แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สาธารณสุขอำเภอถือเป็นกลไกสำคัญในการขานรับนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข สู่การขับเคลื่อนสุขภาพของประชาชนในระดับพื้นที่และชุมชน โดยการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยและญาติ โดยใช้กลยุทธ์การบูรณาการงานเพื่อประชาชนสุขภาพดีมีสุข ร่วมกับกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครภาคประชาชน คือ อสม. เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี มีสุขอย่างถ้วนทั่ว ทั้งนี้ อุบัติการณ์โรค NCDs นับเป็นปัญหาสุขภาพระดับชาติ ที่ต้องอาศัยการจัดการในระดับพื้นที่อย่างเข้มข้น การอบรมเสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารสาธารณสุขอำเภอระดับสูง รุ่นที่ 3 เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสาธารณสุขอำเภอระดับสูง ด้านการบริหารจัดการและขับเคลื่อนดำเนินงานตามการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นตามบทบาทสาธารณสุขอำเภอในยุคเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอน เพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุขและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และภัยสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 1 มีนโยบายสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาวะ ป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ รวมถึงขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังผ่านองค์กรและชุมชนรอบรู้และสื่อสารความรอบรู้สุขภาพตามนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs ขยับกายดี กินเป็น ไม่ป่วย สวย หล่อ ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผ่านการดูแลส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ทั้งนี้ การที่สาธารณสุขอำเภอเข้ามามีส่วนร่วมสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนให้ห่างไกลโรค NCDs ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงด้านสุขภาพ (Health Coach) ขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ป้องกันโรคไม่ติดต่อ (NCDs Prevention Center) และเป็นศูนย์วิชาการสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ระดับอำเภอและตำบล ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาคส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในระดับอำเภอตามบริบทและสถานการณ์มุ่งลดโรค NCDs อันเป็นภารกิจสำคัญที่จะตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข มุ่งสร้างเสริมและป้องกันโรค NCDs ผ่านระบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่ระดับอำเภอ ตำบล และชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การอบรมเสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารสาธารณสุขอำเภอระดับสูง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน เป็นรุ่นที่ 3 จำนวน 119 คน จาก 12 เขตสุขภาพ ใน 47 จังหวัด กำหนดจัดอบรมระหว่างเดือนเมษายน - สิงหาคม 2568 โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 29 - 30 เมษายน และ 1 - 2 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรสเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผ่านมามีผู้สำเร็จหลักสูตรแล้ว จำนวน 2 รุ่นๆ ละ 100 คน รวม 200 คน ผู้สำเร็จหลักสูตรสามารถปรับเทียบหน่วยกิต และเข้าเรียนต่อระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยขอนแก่นคณะสาธารณสุขศาสตร์ได้ ตลอดจนสามารถสร้างความก้าวหน้าทางวิชาชีพในเส้นทางด้านการบริหาร โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 10 และด้านวิชาการ ผ่านการประเมินบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 5 นับเป็นโอกาสดีที่สร้างแรงจูงใจและยกระดับคุณภาพการขับเคลื่อนงานสู่การมีสุขภาพดีของประชาชนอย่างยั่งยืน
ที่มา: กรมอนามัย