ฟิสิกส์โอลิมปิก กับคุณค่าความหมายของการไขว่คว้า

อังคาร ๑๐ กรกฎาคม ๒๐๐๗ ๑๕:๒๒
กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--สสวท.
ฟิสิกส์ เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่ศึกษาธรรมชาติของสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา การค้นคว้าหาความรู้ทางฟิสิกส์ทำได้โดยการสังเกต การทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสรุปเป็นทฤษฎี หลักการหรือกฎ ความรู้เหล่านี้สามารถนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือทำนายสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และความรู้นี้สามารถนำไปใช้เป็นพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ใหม่เพิ่มเติมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ปั้นเยาวชนให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ในสาขาฟิสิกส์ผ่านโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ปัจจุบันมีผู้จบปริญญาเอกสาขานี้ทยอยกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในประเทศ นอกจากนั้น ยังมีทุนโครงการโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งเยาวชนที่ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยทุกคนได้รับสิทธิ์ให้ไปศึกษาต่างประเทศในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกตามสาขาวิชาที่ตนเองเข้าร่วมการแข่งขัน
ส่วนผู้แทนประเทศไทยจำนวน 5 คน จะไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในวันที่ 13-22 กรกฎาคม 2550 ณ เมืองอิสฟาฮาน ประเทศอิหร่าน ต่างก็มีเป้าหมายชีวิตของตนเอง และเห็นความงามของการเรียนวิทยาศาสตร์
นายกษิดิศ โตประเสริฐพงศ์ (แชมป์) โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ซึ่งเคยได้เหรียญเงินฟิสิกส์โอลิมปิก ปี 2549 มาแล้วเมื่อครั้งแข่งที่สิงคโปร์ และเหรียญทองแดงฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเซีย ปี พ.ศ. 2550 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 21-29 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา บอกว่า ชอบเรียนฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ โดยเมื่อก่อนชอบทฤษฎีมากกว่าเพราะยังรู้สึกสนุกกับการคำนวณ แต่หลัง ๆ ได้รู้จักแลปที่สนุก ได้รู้จักเครื่องมือบางอย่างที่เหลือเชื่อ ตอนนี้จึงชอบทฤษฎีกับแลปเท่า ๆ กัน การแข่งขันครั้งนี้ ตั้งเป้าว่าอย่างน้อยจะต้องได้เหรียญเงิน ส่วนครอบครัวและโรงเรียนอยากให้ได้เหรียญทอง แต่ก็พยายามจะไม่กดดันตัวเอง และจะทำให้ดีที่สุด
นายประพฤทธิ์พงศ์ อธิวรัตถ์กูล (เบ๊นซ์) โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ เจ้าของเหรียญเงินจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก ระดับทวีปเอเซีย ปี 2550 ที่ประเทศจีน เผยว่า การแข่งขันที่ประเทศจีนได้เรียนรู้ว่าต้องมีสมาธิในการสอบ ต้องระวังความรอบคอบ จุดเล็กๆ ก็ไม่ควรสะเพร่าเพราะอาจทำให้คะแนนหายไปง่ายๆ วิธีเรียนฟิสิกส์ให้ดีก็คือเน้นดูที่เหตุผลและทำความเข้าใจ ไม่ต้องท่องจำมากมายอะไร ถ้าเพียงแต่เราเข้าใจเหตุผล ที่มาที่ไป เราก็จะทำได้ หากสงสัยอย่าอาย ให้ถามอาจารย์
นายพลณพ สมุทรประภูติ (โพ) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เจ้าของเหรียญทองแดงจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก ระดับทวีปเอเซีย กล่าวว่า ที่เข้าร่วมโครงการโอลิมปิกวิชาการเพราะอยากเพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับตนเอง ได้เรียนอย่างเข้มข้นในวิชาที่ชอบ ได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่รัก และคิดว่าจะได้ค้นพบตัวเอง ซึ่งเจ้าตัวชอบเรียนฟิสิกส์ เพราะเป็นวิชาที่ช่วยเผยความงามของธรรมชาติ ช่วยทำให้สิ่งซับซ้อนเป็นสิ่งเรียบง่าย มีรูปแบบ วิชานี้จึงมีความน่าสนใจ ควรแก่การค้นหาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น วิธีเรียนของผมคือพยายามไม่รู้สึกต่อต้านความยากหรือปริมาณที่เยอะของเนื้อหาที่เรียน เรียนอย่างใจเย็น มีสมาธิ เก็บให้ได้ถึงรายละเอียด สำหรับการเรียนฟิสิกส์ควรฝึกแก้ปัญหาด้วยตนเอง พยายามไม่ถามผู้อื่น หรือเปิดเฉลยในทันที ตั้งคำถามให้ตัวเองบ่อย ๆ เมื่อตอบไม่ได้จริง ๆ จึงไปปรึกษาผู้อื่น ไม่ต้องหวงความรู้ คือ สอนผู้อื่น แต่ไม่ใช่ให้คนอื่น คอยบอกตลอด
หนังสือที่อ่านที่หนุ่มน้อยคนนี้ชอบจะเป็นพวกชีวประวัติ วาทะคนดัง วิทยาศาสตร์ทั่วไป ปรัชญา วรรณกรรม หนังสือภาพ หนังสือที่ชอบ คือ The Tao of Physics เพราะหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างฟิสิกส์ยุคใหม่กับความเชื่อทางฝั่งตะวันออก พลณพกล่าวถึงการแข่งขันครั้งนี้ว่า “ผมไม่ได้ตั้ง เป้าว่าจะต้องคว้ารางวัลอะไรกลับมา แต่ตั้งใจว่าจะไม่ยอมเสียคะแนนในส่วนที่ง่าย และต้องทำได้ดีในส่วนที่ยาก จะทำข้อสอบอย่างมีสติ ไม่สะเพร่า ขณะนี้คิดว่าจะรับทุนโอลิมปิกวิชาการไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ช่วงเวลาที่เหลือจะค้นหาตัวเอง เพื่อให้แน่ใจในสิ่งที่เรารักจริง ๆ ”
นายวรวิทย์ วรพิพัฒน์ (วิทย์) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เจ้าของเกียรติคุณประกาศ จากแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเซีย กล่าวว่าประสบการณ์จากการแข่งขันระดับเอเซียทำให้รู้ว่าจะต้องการจัดการเวลาในการแข่งขันให้เหมาะสมอย่างไร ซึ่งจะได้นำไปปรับใช้ในเวทีโลกนี้ครับ
ส่วน นายชานน อริยประกาย (หมี) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. เหรียญทองแดง โอลิมปิกระดับทวีปเอเซีย ปี พ.ศ. 2550 เล่าว่า สำหรับการแข่งขันที่จะมาถึงนี้ผมจะทำให้ดีที่สุดโดยไม่กดดันตัวเองครับ
ทั้งนี้ การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก เป็นบันไดก้าวแรกที่ทำให้เยาวชนระดับหัวกะทิของชาติได้ค้นพบความชอบตัวเอง ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองและมุ่งไปในทางที่ตัวเองสนใจให้ดีที่สุด โดยมีทุนโอลิมปิกวิชาการเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกช่วยปูทางให้ในระยะยาว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว