สภากทม. เห็นชอบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย และการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น

ศุกร์ ๓๐ เมษายน ๒๐๐๔ ๑๕:๑๒
กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--กทม.
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 47 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 3) ประจำปี พ.ศ. 2547 ได้พิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ…. ในวาระที่สองและวาระที่สาม
นายพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางคอแหลม ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว กล่าวว่า ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ประสบปัญหามลพิษทางน้ำ เนื่องจากประชาชนและสถานประกอบการต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ปล่อยน้ำเสียสู่ทางระบายน้ำสาธารณะและไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่น้ำลำคลองเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง กรุงเทพมหานครจึงได้ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและได้เปิดเดินระบบแล้ว แต่การเดินระบบบำบัดน้ำเสียรวมต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินระบบบำบัดน้ำเสียรวม สมควรจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีการรวบรวมน้ำเสียไปบำบัด และมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 บัญญัติว่ากรุงเทพมหานครอาจออกข้อบัญญัติเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ จากผู้ซึ่งใช้หรือได้ประโยชน์จากการบริการสาธารณะที่กรุงเทพมหานครจัดให้มีขึ้นได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงได้ตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ขึ้น
ทั้งนี้ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบญัตติร่างข้อบัญญัติดังกล่าว โดยจะนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาลงนามและประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต่อไป
นอกจากนี้ นายกวี ณ ลำปาง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไทและคณะ เสนอญัตติ ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษา เนื่องด้วยในแต่ละปีกรุงเทพ-มหานครมีภารกิจในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนมากกว่า 300,000 คน เช่นในปี 2546 มีนักเรียนถึง 344,970 คน ครู 13,030 คน แต่กรุงเทพมหานครจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาเพียง 2,233,125,400 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.13 ของงบประมาณทั้งหมด ในส่วนของงบประมาณค่าก่อสร้างปรับปรุงโรงเรียนซึ่งต้องขอจัดสรรไปยังสำนักงานเขตนั้น มักถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ในอันดับท้ายๆ ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการจัดสรร สำหรับงบประมาณค่าสัมมนาครูได้รับเขตละ 3,000 บาท ต่อปี เท่ากันทุกเขต ถึงจะมีจำนวนโรงเรียนในพื้นที่จำนวนไม่เท่ากัน เช่น ในพื้นที่เขตพญาไทมีโรงเรียนสังกัดกทม. เพียงโรงเรียนเดียว ส่วนในพื้นที่เขตหนองจอกมีถึง 37 โรงเรียน เป็นต้น สำหรับค่าซ่อมแซมโต๊ะเก้าอี้ได้รับโรงเรียนละ 700 บาท เท่าๆ กัน ทั้งโรงเรียนที่มีนักเรียนเพียงไม่กี่ร้อยคนหรือโรงเรียนที่มีนักเรียน 3,000-4,000 คน ซึ่งควรจะมีการปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสามารถรองรับการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ที่ประชุมสภากทม. ได้มีมติเห็นชอบญัตติดังกล่าว และจะนำเสนอฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน