ผลการศึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาแหล่งแร่ทรายแก้วใน 6 จังหวัดภาคใต้

อังคาร ๒๒ มิถุนายน ๒๐๐๔ ๑๓:๔๒
กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผลการศึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาแหล่งแร่ทรายแก้วในเขตพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ 6 จังหวัดภาคใต้
นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลการศึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาแหล่งแร่ทรายแก้วในเขตพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่หรือเขตเศรษฐกิจแร่ 6 จังหวัดภาคใต้ คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร ตรัง ปัตตานี และกระบี่ รวมพื้นที่ที่ศึกษาทั้งหมดประมาณ 140,745 ไร่ พบพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้วที่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนาประมาณ 73,938 ไร่ มีปริมาณแร่ทรายแก้วสำรองประมาณ 509.57 ล้านเมตริกตัน
จากการที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ว่าจ้างบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาแหล่งแร่ทรายแก้วในเขตพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่หรือเขตเศรษฐกิจแร่ (จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร ตรัง ปัตตานี และกระบี่) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเขตศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้วในบริเวณภาคใต้พร้อมจัดทำแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบผลตอบแทนในการพัฒนาเพื่อการทำเหมืองแร่กับการพัฒนาในเชิงธุรกิจอื่นๆ ในเขตศักยภาพแหล่งแร่ ผลการศึกษามีรายละเอียดดังนี้
1. การกำหนดพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้วที่เหมาะสมต่อการพัฒนา ได้แก่
- แหล่งแร่ทรายแก้ว จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่แหล่งแร่ 5 แหล่ง คือ พื้นที่แหล่งแร่ อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอพรหมคีรี และอำเภอเมือง มีพื้นที่ประมาณ 52,860 ไร่ มีปริมาณแร่สำรองรวมประมาณ 456.05 ล้านเมตริกตัน เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทั้งหมด 34,530 ไร่ มีปริมาณแร่สำรอง 309.73 ล้านเมตริกตัน
- แหล่งแร่ทรายแก้ว จังหวัดสงขลา มีพื้นที่แหล่งแร่ 3 แหล่ง คือ พื้นที่แหล่งแร่ อำเภอเมือง อำเภอจะนะ และอำเภอเทพา มีพื้นที่ประมาณ 27,389 ไร่ มีปริมาณแร่สำรองรวมประมาณ 125.3 ล้านเมตริกตัน เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทั้งหมด 22,393 ไร่ มีปริมาณแร่สำรอง 101.20 ล้านเมตริกตัน
- แหล่งแร่ทรายแก้ว จังหวัดชุมพร มีพื้นที่แหล่งแร่ 5 แหล่ง คือ พื้นที่แหล่งแร่ อำเภอเมือง อำเภอประทิว อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก และอำเภอหลังสวน มีพื้นที่ประมาณ 14,850 ไร่ มีปริมาณแร่สำรองรวมประมาณ 73.01 ล้านเมตริกตัน เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทั้งหมด 7,559 ไร่ มีปริมาณแร่สำรอง 39.59 ล้านเมตริกตัน
- แหล่งแร่ทรายแก้ว จังหวัดตรัง มีพื้นที่แหล่งแร่ 2 แหล่ง คือ พื้นที่แหล่งแร่ อำเภอสิเกา และอำเภอกันตัง มีพื้นที่ประมาณ 15,411 ไร่ มีปริมาณแร่สำรองรวมประมาณ 78.92 ล้านเมตริกตัน เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทั้งหมด 1,725 ไร่ มีปริมาณแร่สำรอง 10.56 ล้านเมตริกตัน
- แหล่งแร่ทรายแก้ว จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่แหล่งแร่ 1 แหล่ง คือ พื้นที่แหล่งแร่ อำเภอยะหริ่ง และมายอ มีพื้นที่ประมาณ 4,318 ไร่ มีปริมาณแร่สำรองรวมประมาณ 25.70 ล้านเมตริกตัน เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทั้งหมด 3,714 ไร่ มีปริมาณแร่สำรอง 22.99 ล้านเมตริกตัน
- แหล่งแร่ทรายแก้ว จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่แหล่งแร่ 2 แหล่ง คือ พื้นที่แหล่งแร่ อำเภอเหนือคลอง และอำเภอเกาะลันตา มีพื้นที่ประมาณ 25,917 ไร่ มีปริมาณแร่สำรองรวมประมาณ 139.10 ล้านเมตริกตัน เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทั้งหมด 4,017 ไร่ มีปริมาณแร่สำรอง 25.50 ล้านเมตริกตัน
2. การจัดลำดับความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้ว ได้พิจารณาจากความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาเหมืองแร่ และด้านขนส่ง โดยการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้ ผลการจัดลำดับในการพัฒนาพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีได้แก่
- กรณีที่ 1 ศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตแก้วอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก (ปัจจุบันศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตแก้วตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง) พื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้วที่เหมาะสมในการพัฒนา 3 อันดับแรก คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลาหรือชุมพร และตรัง ตามลำดับ
- กรณีที่ 2 หากมีการตั้งศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตแก้วในพื้นที่ภาคใต้ โดยอาจตั้งขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือสงขลา พื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้วที่เหมาะสมในการพัฒนาที่สุด คือ จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตแก้ว
3. การศึกษาวิเคราะห์โครงการทางด้านเศรษฐศาสตร์ในพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้ว ได้ทำการวิเคราะห์จากต้นทุนและผลตอบแทนทางการเงินของพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้ว โดยเมื่อพิจารณาจากภาพรวมของพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้วทุกแห่ง พบว่า แนวทางที่เหมาะสมสำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้ว คือ การทำเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ก่อนแล้วจึงฟื้นฟูที่เพื่อทำธุรกิจอื่น
4. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้ว พบว่า พื้นที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อมในระดับที่รุนแรง แต่ต้องมีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการเมื่อสิ้นสุดการทำเหมือง และมาตรการในการติดตามตรวจสอบที่เหมาะสม
แร่ทรายแก้ว เป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายๆ ประเภทที่ล้วนแต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตแก้ว อุตสาหกรรมกระจก อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมหล่อโลหะ อุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจะมีปริมาณความต้องการใช้ทรายแก้วแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตแร่ทรายแก้วปีละ 1.3 ล้านเมตริกตัน จังหวัดระยอง ผลิตแร่ได้ 1 ล้านเมตริกตัน และจันทบุรี ผลิตแร่ได้ 0.3 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 453 ล้านบาท และใช้เป็นวัตถุดิบในประเทศ 1.2 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 430 ล้านบาท
ผู้ที่สนใจต้องการข้อมูล และรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ถนนพระราม 6 ราชเทวี กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2245-9391 หรือ 0-2202-3741 โทรสาร 0-2202-3681--จบ--
-วว/นท-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๔ พ.ค. C Rhyne Group ร่วมจัดงาน Asia Top Awards 2024 พร้อมรับรางวัล Business Awards
๒๔ พ.ค. FTI พบนักลงทุน Opportunity Day โชว์ผลงานไตรมาสแรก ปี 67
๒๔ พ.ค. ต้อนรับศูนย์อินเดียฯ สู่สถาบันเอเชียศึกษา พร้อมเปิดตัวหนังสือพุทธโคดม : บทวิเคราะห์เชิงรัฐศาสตร์ ว่าด้วยพุทธประวัติในบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง
๒๔ พ.ค. Alibaba Cloud ประกาศเปิด Availability Zones ใหม่ และลงทุนทั่วโลกเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมด้าน AI
๒๔ พ.ค. PwC ประเทศไทย แนะซีเอฟโอสร้างทัศนคติทางดิจิทัลเพื่อพลิกโฉมฝ่ายการเงิน
๒๔ พ.ค. เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส จับมือ กรมป่าไม้ จัดโครงการรักษาผืนป่า JT Forest สร้างการตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อม
๒๔ พ.ค. 3 นวัตกรรมจุฬาฯ คว้ารางวัลเหรียญทอง และถ้วยรางวัลพิเศษ จากเวทีนวัตกรรมนานาชาติในงาน ITEX 2024 ที่มาเลเซีย
๒๔ พ.ค. ส่องไอเดียเยาวชนสร้างสรรค์! DekSDM SPU ออกแบบ Art Toy สุดน่ารัก หนึ่งในผลงาน โชว์บนเวที Thailand Toy Expo
๒๔ พ.ค. MAGURO เคาะราคาไอพีโอ 15.90 บาท จองซื้อ 28-30 พ.ค.นี้ ระดมทุนขยายธุรกิจ- หนุนการเติบโต และเสริมแกร่งการเงิน จ่อเทรด 5 มิ.ย.
๒๔ พ.ค. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตรีที่ด้อยโอกาสในโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา