ผู้ถือหุ้นบางจากฯ มีมติแต่งตั้งนายณรงค์ บุณยสงวน เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่

พฤหัส ๓๐ สิงหาคม ๒๐๐๑ ๑๔:๒๖
กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--บางจาก
ผู้ถือหุ้นบางจากฯ มีมติแต่งตั้งนายณรงค์เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ บอร์ดกำหนดนโยบายให้เพิ่มรายได้จากธุรกิจหลัก และปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อลดค่าใช้จ่าย
ผู้ถือหุ้นบางจากฯ มีมติแต่งตั้ง นายณรงค์ บุณยสงวน ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ พร้อมวางแนวทางดำเนินงานให้เพิ่มรายได้จากธุรกิจหลักคือการกลั่นน้ำมันและการค้าปลีก รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายและดูแลทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญ บริษัท บางจากฯ (มหาชน) ณ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก ถนนสุขุมวิท 64
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายสมหมาย ภาษี ประธานกรรมการบริษัทฯ เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้มีเรื่องที่สำคัญเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา คือการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่แทนนายศิริชัย สาครรัตนกุล ที่ได้ลาออก เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2544และแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อนำบริษัทฯ ให้อยู่รอดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง
นายสมหมาย กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง นายณรงค์ บุณยสงวน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากฯ ซึ่งผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา และได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเห็นว่า นายณรงค์เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่ง เพราะมีประสบการณ์ตรงในธุรกิจปิโตรเลียม มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี ทั้งในบริษัทที่มีระบบงานเป็นสากล คือ บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด (ประเทศไทย)จำกัด และบริษัทที่มีระบบแบบไทยๆเช่น บางจากฯ ซึ่งน่าจะใช้ประสบการณ์ทั้ง สองด้านมาผสมผสานแก้ไขปัญหาและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องได้ ทั้งยังเป็นคนในองค์กรบางจากฯ รู้ปัญหาของบริษัทฯ มาโดยตลอด สามารถประสานงานต่อได้โดยไม่ต้องเสียเวลาศึกษางาน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้นำคนใหม่จะช่วยนำพาบางจากฯ ให้ดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันนายณรงค์ อายุ 52 ปี สำเร็จการศึกษาคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบการณ์ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการด้านการตลาด บริษัท เอสโซ่ฯก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากฯ เมื่อปี 2539
นายสมหมาย กล่าวอีกว่า คณะกรรมการได้กำหนดนโยบายการบริหารงานโดยรวมดังนี้
เร่งปรับปรุง พัฒนาองค์กรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมภายนอก เสริมสร้างประสิทธิภาพ โดยร่วมทำงานกับบริษัทหรือหน่วยงานที่รัฐเป็นเจ้าของ เพื่อก่อให้เกิดรายได้และสร้างกำไรให้บริษัทฯ
คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ผู้ถือหุ้น และผู้ใช้บริการ เป็นหลักในการบริหารงาน ดำเนินกิจการบริษัทฯ อย่างโปร่งใสตามแนวทางบรรษัทภิบาล (Good corporate governance) ไม่มีนโยบายแปรรูปบริษัทฯ ในช่วงนี้ แต่จะเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานก่อน เพื่อให้กิจการดำเนินไปได้ด้วยดี โดยยึดนโยบายของรัฐบาลเป็นที่ตั้ง ไม่มีนโยบายในการแยกบริษัทฯ โรงกลั่น และบริษัทด้านการตลาด ไม่ปิดโรงกลั่น ทรัพย์สินบางจากฯ เป็นของรัฐ ควรใช้ให้คุ้มค่า สนับสนุนให้บางจากฯ เป็นกลไกของรัฐในการสนับสนุนพัฒนาชุมชนตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงการคลังจะให้การสนับสนุนด้านการเงิน ในฐานะที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ สร้าง "พลังร่วม" ของพนักงาน ผู้บริหาร กรรมการ ผู้ถือหุ้น ผู้สนับสนุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำพาบางจากฯ สู่ความอยู่รอด
จากนโยบายดังกล่าว คณะกรรมการได้ปรับกลยุทธ์และแนวทางการทำงานเพื่อปรับปรุงกิจการใน 4 ด้านหลักดังต่อไปนี้
ด้านการกลั่น และการจัดหาผลิตภัณฑ์ การกลั่น เช่น ปรับระดับการกลั่นให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดต่างประเทศอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในช่วงที่คาดว่ามีค่าการกลั่นต่ำ (2545-2547) สร้างมูลค่าเพิ่มจากน้ำมันเตา โดยนำไปผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำมันใส วางแผนการจัดหาน้ำมันดิบ/ปฏิบัติการกลั่นร่วมกับ โรงกลั่นอื่นๆ การจัดหาน้ำมันดิบ เช่น ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างเรือขนส่งน้ำมันดิบร่วมกับบริษัทไทยออยล์ และปรับเปลี่ยน การเก็บน้ำมันสำรองเพื่อลดค่าใช้จ่าย
ปรับปรุงธุรกิจการตลาดเป็นเชิงรุก เช่น เพิ่มยอดขายในตลาดค้าปลีก อุตสาหกรรมและน้ำมันเครื่อง โดยเน้นพัฒนาภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมันใหม่ (New Look) เช่น ห้องน้ำสะอาด และความเป็นเลิศในการบริการ ขยายปั๊มชุมชนเพิ่มขึ้น และปรับปรุงภาพลักษณ์ สร้างระบบการค้าผูกพัน (Royalty Program) เช่น การขยายการใช้บัตร บางจากเชื่อมโยงไทย (บัตรส่วนลด) ทั่วประเทศ และขยายการรับบัตรเครดิต หารายได้เพิ่มจากสิ่งปลูกสร้างในสถานี บริการน้ำมันที่ได้ลงทุนไว้แล้ว ลดต้นทุนการจัดส่งน้ำมัน โดยร่วมใช้ระบบการกระจายผลิตภัณฑ์ (Improve distribution network) สู่ลูกค้า กับบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายอื่นเพิ่มเติม
ปรับปรุงด้านการเงิน เช่น ลดต้นทุนการเงินโดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ (ดอกเบี้ยลดลงประมาณ 2-2.5 % ต่อปี)
การปรับปรุงการบริหารภายในองค์กร เช่น จำหน่ายทรัพย์สินในส่วนที่คาดว่าไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น ที่ดินและอุปกรณ์สถานีบริการ ชะลอการลงทุนที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วนออกไป โดยจะเน้นการลงทุนเฉพาะการขยายตลาด ค้าปลีกในพื้นที่ที่มีศักยภาพ
นายสมหมาย กล่าวว่า ด้วยแนวนโยบายและการปรับกลยุทธ์การดำเนินงานต่างๆ ที่ได้วางไว้อย่างชัดเจน จะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในระยะ 2-3 ปี ข้างหน้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการทำงานร่วมกับชุมชนที่บางจากฯ ทำมาอย่างต่อเนื่องนั้น คณะกรรมการบริษัทยังคงสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไป เพราะเป็นแนวทางสำคัญที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงธุรกิจกับชุมชน และมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืน--จบ--
-สส-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว