ฟิทช์จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ บมจ. ซีพี ออลล์ ที่ ‘A(tha)’

จันทร์ ๐๒ มีนาคม ๒๐๑๕ ๑๑:๔๖
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันชุดใหม่ของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL ที่ ‘A(tha)’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ CP ALL และหุ้นกู้มีประกันของบริษัทฯ ที่‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ CP ALL ที่ ‘F1(tha)’

หุ้นกู้ดังกล่าวประกอบด้วยหุ้นกู้ 2 ชุด ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2560 และปี 2563 โดยมีจำนวนเงินรวมไม่เกิน 1.8 หมื่นล้านบาท โดยเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวจะนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารบางส่วน หุ้นกู้ดังกล่าวเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งแตกต่างจากหุ้นกู้ในปัจจุบันของบริษัทฯ และเงินกู้ยืมจากธนาคารส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ซึ่งมีหลักประกันเป็นหุ้นสามัญของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (Makro)

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อันดับเครดิตที่ต่ำกว่าหุ้นกู้มีประกัน: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของหุ้นกู้มีประกันหนึ่งอันดับ เนื่องจากหนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัทฯ เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน โดยมีอัตราส่วนหนี้สินมีประกันต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (Secured Debt to EBITDA) ที่ 6.2 เท่า ณ สิ้นปี 2557

ผู้นำในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ: CP ALL เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven มากกว่า 8,000 ร้านทั่วประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 60 ในด้านจำนวนร้าน ซึ่งสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับสองเป็นอย่างมาก ฟิทช์เชื่อว่า CP ALL จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำทางการตลาดไว้ได้ แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกจะมีการแข่งขันที่สูง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีร้านค้าในเครือในจำนวนที่มากกว่าและครอบคลุมพื้นที่มากกว่าคู่แข่งขัน รวมถึงการมีหน่วยงานในเครือที่สนับสนุนกิจการค้าปลีกของบริษัทฯ ได้แก่การบริการด้านลอจิสติกส์ การซ่อมแซมและบำรุงรักษาร้านค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน

เครื่องหมายการค้าที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง: CP ALL บริหารงานร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลก ภายใต้สัญญา Area License Agreement ที่ทำกับบริษัท 7-Eleven Inc., แห่งสหรัฐอเมริกา โดยได้เปิดดำเนินการร้านค้าแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2532 ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนร้านค้า 7-Eleven มากเป็นอันดับที่สองในโลก (ไม่รวมสหรัฐอเมริกา) รองจากประเทศญี่ปุ่น

การขยายธุรกิจไปยังธุรกิจค้าส่ง: การเข้าซื้อกิจการของ Makro ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสด และบริการตนเอง (Membership based Cash & Carry trade center) ในประเทศไทย ทำให้ CP ALL สามารถขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจค้าส่ง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าทั้งในด้านปริมาณและความหลากหลาย หลังจากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว CP ALL ได้กลายเป็นผู้ประกอบกิจการค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) ประเภทอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

กระแสเงินสดที่มั่นคงและการเติบโตที่แข็งแกร่ง: CP ALL มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากสินค้าที่ขายในร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ในขณะที่การเติบโตของบริษัทฯ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสภาวะของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยที่ยังเติบโตไม่ถึงระดับอิ่มตัว ยอดขายของ CP ALL น่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2558-2560 จากการเปิดร้านค้าใหม่และอัตราการเติบโตของยอดขายของร้านค้าเดิม แม้ว่าอัตราการเติบโตของยอดขายของร้านค้าเดิมของ 7-Eleven จะติดลบในปี 2557

อัตราส่วนหนี้สินที่สูง: ด้วยความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของ CP ALL ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า แม้ว่าแผนการขยายสาขาที่รวดเร็วขึ้นของ Makro ทำให้ Makro และบริษัทฯ (เมื่อพิจารณางบการเงินรวม) มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผลจ่าย (Free Cash Flow, FCF) เป็นลบในปี 2557 แต่ฟิทช์คาดว่าการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินน่าจะช้ากว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้เดิมเพียงเล็กน้อย โดยอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (funds flow from operations (FFO) adjusted net leverage) น่าจะลดลงเหลือประมาณ 5.0 เท่าถึง 5.5 เท่าในปี 2558 และต่ำกว่า 3.5 เท่า ในปี 2560 จาก 6.9 เท่า ณ สิ้นปี 2557

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

- รายได้รวมมีการเติบโตในอัตราร้อยละ 15-20 ในปี 2558 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากร้านค้าที่เปิดใหม่

- อัตรากำไรค่อนข้างคงที่

- มีการเปิดร้านค้าใหม่จำนวน 600 – 650 สาขาต่อปีสำหรับร้าน 7-Eleven และ 10 – 15 สาขาต่อปีสำหรับร้านค้าของ Makro

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยลบ:

การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินที่ช้ากว่าที่คาด โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ที่อยู่ในระดับสูงกว่า 5.0 เท่าอย่างมีนัยสำคัญในปี 2558 และสูงกว่า 3.5 เท่าในปี 2560

อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ที่ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 8.5 อย่างต่อเนื่อง (ปี 2557: ร้อยละ 9.7) และ/หรือ

การมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผลจ่าย (FCF) ที่เป็นลบต่อเนื่องกัน 2 ปี

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้ามีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่สูงของบริษัทฯ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา