ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิต บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บจก. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค เป็น 'AAA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

พฤหัส ๓๐ พฤศจิกายน ๒๐๒๓ ๑๖:๐๘
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) และ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ซึ่งเป็นบริษัทลูก เป็น 'AAA(tha)' จาก 'AA+(tha)' โดยแนวโน้มเครดิตของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ของ AIS และ AWN ที่ 'F1+(tha)'

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของ AIS หลังจากการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย ฟิทช์มองว่าการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่ออันดับเครดิต จากการเพิ่มการกระจายตัวของรายได้ของ AIS นอกเหนือจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งทำให้สถานะทางการตลาดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น และส่งเสริมการเติบโตของรายได้ และกำไรของบริษัทให้มีเสถียรภาพ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ฟิทช์คาดว่า AIS จะยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งหลังการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว โดยมี อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) อยู่ที่ 1.4 เท่า ในปี 2566 และ 2567 (2565: 1.0 เท่า)

แนวโน้มเครดิตที่มีเสถียรภาพสะท้อนการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า AIS จะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย อย่างต่อเนื่อง และมีกำไรที่แข็งแกร่ง โดยยังคงรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับระดับเครดิตปัจจุบันได้

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อันดับเครดิตของ AIS เท่ากับ AWN: อันดับเครดิตของ AIS และ AWN อยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนต่อบริษัทลูกในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) ในระดับสูง และแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนทางกฎหมาย (Legal incentive) ในระดับต่ำ ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria)  แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงสัดส่วนรายได้และสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่มาจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของ AWN ซึ่งอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 93 และร้อยละ 73 ตามลำดับ ในปี 2565

ฟิทช์มองว่าโครงสร้างการบริหารและการใช้แบรนด์ร่วมกัน (Management and Brand Overlap) อยู่ในระดับสูง โดย AIS ถือหุ้นทั้งหมดใน AWN ทำให้มีอำนาจควบคุมการดำเนินธุรกิจ และนโยบายด้านการเงินและการลงทุน นอกจากนี้ AWN มีการใช้แบรนด์สินค้าร่วมกันภายใต้แบรนด์ "AIS" สำหรับสินค้าและบริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และคอนเทนต์

การเข้าซื้อธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นผลดีต่ออันดับเครดิต: ฟิทช์มองว่า การเข้าซื้อกิจการ TTTBB สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ AIS ในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของกำไร การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะส่งผลให้ AIS สามารถเพิ่มการกระจายตัวของรายได้ ไปสู่การให้บริการโทรคมนาคมอื่น ๆ เช่น โทรทัศน์ และ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งทำให้สถานะทางธุรกิจของบริษัท ฯ แข็งแกร่งขึ้น ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 18 หลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7

การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะทำให้สถานะทางการตลาดของ AIS ปรับตัวดีขึ้น และกลายเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่อันดับที่สองในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 35 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 16 ในปี 2565 ซึ่งจะใกล้เคียงกับส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด ซึ่งได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณร้อยละ 38 นอกจากนั้น การเข้าซื้อ TTTBB ยังส่งผลให้ AIS สามารถเข้าถึงตลาดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงนอกนอกเมืองใหญ่ ซึ่ง AIS มีเครือข่ายที่จำกัด และส่งเสริมสถานะทางการตลาดที่ AIS มีความแข็งแกร่งอยู่แล้วในเมืองใหญ่

การเติบโตที่สูงขึ้น: ฟิทช์คาดว่า AIS จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของสภาวะเศรษฐกิจไทย จากที่ค่อนข้างอ่อนแอในช่วงปี 2563-2565 ฟิทช์คาดว่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติของไทยจะเติบโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.8 ในปี 2567 หลังจากการเติบโตในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ที่ร้อยละ 1.9 กิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวน่าจะสนับสนุนให้รายได้ของ AIS เติบโต (ไม่รวมผลจากการเข้าซื้อกิจการ) ซึ่งฟิทช์คาดว่าน่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 2-3 ต่อปี ในปี 2566 และ 2567 (9 เดือนแรกของปี 2566 เติบโตร้อยละ 2.3)

การแข่งขันที่ดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะได้รับประโยชน์จาก การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงน้อยลง ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) และรายได้โดยรวมของ AIS  อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยเริ่มมีสัญญาณการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้น จากการแข่งขันที่ลดลง หลังจากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในไตรมาสแรกของปี 2566 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมได้กลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างกำไร มากกว่าการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด โดยได้เริ่มลดการนำเสนอแพ็คเกจที่ใช้งานข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด อย่างต่อเนื่อง

อัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ของ AIS จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 เท่า ณ สิ้นปี 2566 หลังการเข้าซื้อกิจการ TTTBB เสร็จสิ้น (ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 อยู่ที่ 1.1 เท่า) โดยยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต แม้ว่าความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับอันดับเครดิตจะปรับตัวลดลง ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินของ AIS จะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2567 และ 2568 จากกำไรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ผู้นำตลาด: ฟิทช์เชื่อว่า AIS จะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการให้อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 48 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 47) นอกจากนี้สถานะทางธุรกิจของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจาก ขนาดธุรกิจและฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ ชื่อเสียงทางการค้าที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากที่สุด    AIS ได้ขยายธุรกิจไปสู่การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยรายได้จากการให้บริการดังกล่าวมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับเครดิตของ AIS มีความแข็งแกร่งกว่าอันดับเครดิตของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'AA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ AIS และ ThaiBev มีสถานะทางธุรกิจในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นผู้นำในธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่ AIS มีการกระจายตัวของธุรกิจในด้านภูมิภาคที่น้อยกว่า ThaiBev แต่อันดับเครดิตภายในประเทศของ AIS อยู่ในระดับสูงกว่า ThaiBev อยู่สองอันดับเนื่องจาก AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ AIS อยู่เท่ากับอันดับเครดิตของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย AIS มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่ากว่า ปตท. เล็กน้อย โดย ปตท. มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวของธุรกิจมากกว่า AIS ซึ่งช่วยลดทอน ความผันผวนที่เกิดจากธุรกิจย่อยแต่ละธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคมของ AIS มีความผันผวนน้อยกว่า นอกจากนี้  AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า โดยมีอัตราส่วน EBITDA Net Leverage อยู่ที่ระดับประมาณ 1.4 เท่า เมื่อเทียบกับ ปตท. ที่ระดับ 2 เท่า

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้จากการให้บริการเติบโตประมาณร้อยละ 3 ต่อปี ในปี 2566 และ 2567 เนื่องจากเศรฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและการแข่งขันที่ปรับตัวดีขึ้น
  • Operating EBITDA margin ที่ร้อยละ 42 ในปี 2566 (9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 42.3) ก่อนจะปรับตัวลงสู่ 38% ในปี 2567 หลังจากการเข้าซื้อกิจการ TTTBB ที่มีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่ต่ำกว่า
  • เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2566 และ 2567 (ปี 2565 อยู่ที่ 2.78 หมื่นล้านบาท)
  • จ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 95 ของกำไร

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

AIS

ปัจจัยบวก

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจาก เป็นอันดับเครดิตภายในประเทศที่สูงที่สุดแล้ว

ปัจจัยลบ

  • EBITDA Net Leverage เพิ่มสูงกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท

AWN

ปัจจัยบวก

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจาก เป็นอันดับเครดิตภายในประเทศที่สูงที่สุดแล้ว

ปัจจัยลบ

  • การปรับลดลงของอันดับเครดิตของ AIS
  • แรงจูงใจในการสนับสนุนจาก AIS ต่อ AWN ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งฟิทช์มองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

สภาพคล่องและโครงสร้างหนี้

สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้: AIS มีหนี้จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือน นับตั้งแต่สิ้นเดือนกันยายน 2566 ฟิทช์เชื่อว่าสภาพคล่องของ AIS อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ภายในประเทศเนื่องจากสถานะทางเครดิตที่ดี

เกี่ยวกับบริษัท: AIS เป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการร้อยละ 48 และเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ โดยมีลูกค้าจำนวน 2.2 ล้านราย บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามจำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงประมาณร้อยละ 16 บริษัท อินทัช โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) และ Singapore Telecommunication Limited (อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'A' แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ฯ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 40 และ 23 ตามลำดับ

อันดับเครดิตที่เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตอื่น

อันดับเครดิตของ AWN อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของ AIS

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐:๕๙ อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud