สมัชชาสุขภาพแนะเสพข่าวภัยพิบัติด้วยสติ

อังคาร ๐๗ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๒ ๑๐:๔๙
เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกะเทาะบทเรียน ภาคประชาชนชี้ต้องมีสติในการดูข่าว ต้องเช็คข้อมูลให้รอบด้าน ขณะที่ “กิตติ”กระตุ้นสื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยเหลือชาวบ้านยามผจญภัยพิบัติ ด้าน กสทช. เตรียมจัดสรรคลื่นความถี่ทีวีภัยพิบัติ ติงสื่อดราม่าได้แต่ต้องมีคุณภาพ

ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ภายในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ข่าวภัยพิบัติ เสพอย่างไรไม่ให้ตื่นตูม” โดยนายกิตติ สิงหาปัด บรรณาธิการข่าวสามมิติ น.ส.วิลาวัลย์ บุญจันทร์ อาสาสมัครจากกลุ่มไทยฟลัด และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาครั้งนี้

นายกิตติ กล่าวว่า เมื่อต้องติดตามข่าวภัยพิบัติ ผู้ชมหรือผู้ฟังต้องกระตือรือร้นในการหาความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติด้วยตนเอง เพราะหากมีข้อมูลหรือหาความรู้ด้วยตนเองก็จะไม่ตื่นกับข่าว เช่น หากนำเสนอข่าวหมอดูว่ามีการทำนายว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในอีก 2- 3 วัน ซึ่งความจริง ตามหลักวิทยาศาสตร์ แผ่นดินไหวจะเกิดหรือไม่เกิดนั้น ไม่อาจทำนายได้ เพราะการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเองก็อาจจะไม่เต็มร้อย ตนในฐานะสื่อมวลชนก็อาจจะไม่ได้เสนอข้อมูลอย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่ตนก็พยายามนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านที่สุด

บรรณาธิการข่าวสามมิติกล่าวว่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ภัยพิบัตินั้นตนได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.นำเสนอข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริง 2.นำเสนอข้อมูลประกอบเสริมเพื่อให้ประชาชนใช้การตัดสินใจในการป้องกันตนเองจากภัยพิบัติ 3.ผันตัวเองเป็นสื่อกลางในการระดมการบริจาคเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน เนื่องจากสื่อโทรทัศน์จะมีพลังมหาศาลในการะดมของบริจาค

“สิ่งที่เราจะรับผิดชอบและทำร่วมกันคือ การหาข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติและช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่”

ด้านน.ส.วิลาวัลย์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับสถาณการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาคือ ข่าวสารที่ออกมานั้นมีจำนวนมากจนประชาชนไม่รู้จะเลือกเสพข่าวไหนหรือว่าจะเลือกเชื่อสื่อใด สิ่งสำคัญที่สุดคือ ประชาชนที่ประสบภัยพิบัติจะต้องใช้สติในการเสพสื่อ ไม่ตื่นตูม และจะต้องแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ต้องเชื่อตนเองและผลักดันให้คนที่มีหน้าที่ได้ทำหน้าที่ของเขา โดยเฉพาะคนเมืองต้องทลายกำแพง “ความเป็นคนเมือง” ของ และร่วมมือกับชุมชนหาแนวร่วมในการป้องกันตนเอง สร้างตนเองให้เข้มแข็ง เพราะเมื่อรัฐไม่ดูแลเรา เราก็จะต้องร่วมมือกันเพื่อดูแลตนเองให้ได้

“การเสพสื่อ เราก็ควรที่จะมีการตึกตรองอย่างหลายชั้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีนิวส์มีเดียเกิดขึ้นมากมาย เราก็สามารถตรวจสอบได้อีกทาง”

ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคข้อมูลสารสนเทศเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นล้นเกินออกมาเป็นจำนวนมาก การเสพสื่อในรูปแบบสื่อทั่วไป หลายคนอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ว่าดราม่า แต่สำหรับตนแล้ว เห็นว่า “ความเป็นดราม่า” ก็มีได้ตามธรรมชาติและวิธีการของสื่อนั้นๆ แต่สิ่งสำคัญต้องมีคุณภาพและต้องให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงแก่ประชาชน

“เราจะต้องสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพ (code of conduct) ให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการทำหน้าที่ของสื่อ และสิ่งสำคัญที่สุดอีกเรื่องคือ เราจะต้องติดอาวุธให้แก่ประชาชน ให้เขารู้เท่าทันสื่อที่เราเสพให้ได้ กสทช. เองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เราได้เตรียมการในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการรู้เท่าทันสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ เรายังได้เตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบในลักษณะของช่องภัยพิบัติโดยเฉพาะ”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๔๔ พาราไดซ์ พาร์ค ต้อนรับ The Little Gym เปิดสาขาที่ 3
๐๙:๒๕ STI จัดอบรมหลักสูตร ChatGPT ผู้ช่วยงานอัจฉริยะในยุคดิจิทัล เพื่อยกระดับพนักงานสู่ยุค AI
๐๘:๕๑ จีนเปิดตัว เห็ดหลินจืออำเภอกวน ณ งานวันเห็ดโลก ประจำปี 2567
๑๗:๔๕ บลจ.กสิกรไทย พาลูกค้าเปิดประสบการณ์การลงทุนระดับโลก ในงานสัมมนา KAsset x JPMAM : The Great Investment Debate นำทัพกูรูแชร์มุมมองส่องทุก Asset
๑๗:๔๔ HUAWEI จับมือ Amado Shopping 1451 เปิดตัวสมาร์ทวอทช์ HUAWEI Band 9 พร้อมวางจำหน่ายเร็ว ๆ นี้ ด้วยโปรโมชันเอ็กซ์คลูซีฟ
๑๗:๒๖ มะเร็งทางนรีเวช ภัยร้าย. ที่ผู้หญิงควรรู้
๑๗:๔๕ เขตจตุจักรประสาน NT เร่งแก้ไขผิวทางเท้าบริเวณบ่อพักสายสื่อสารให้เรียบเสมอกัน
๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย