ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 17

อังคาร ๐๖ พฤษภาคม ๒๐๑๔ ๑๑:๑๖
ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 17(ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting)ณ กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 เห็นพ้องว่าเศรษฐกิจอาเซียน+3 ดีขึ้นเนื่องจากได้อานิสงส์จากการส่งออก และเน้นเสริมสร้างกลไกป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโดยการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM) และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO)”

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 17 (ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2557ณ กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นก่อนการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 47 โดยมีนายยู วิน เชน (U Win Shein) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหภาพเมียนมาร์ และนายทาโร อาโซะ (Taro Aso) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น เป็นประธานร่วมการประชุม ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ที่ประชุมได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิก โดยนายโยอิชิ เนโมโตะ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน+3 ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2556 อย่างไรก็ตาม ในต้นปี 2557 เศรษฐกิจของบางประเทศมีอัตราการขยายตัวที่แผ่วลงไปบ้าง โดยเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในปี 2557 จะพึ่งพาการส่งออกมากขึ้นจากการที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแรงลงและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตลอดจนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ในขณะที่นายทาเกฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เห็นว่า ในระยะสั้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอาจมีความเสี่ยงจากการปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE Tapering) ของสหรัฐฯ และการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น ส่วนในระยะปานกลางเห็นว่า ทุกประเทศสมาชิกควรจะ (1) ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่เหมาะสม (2) ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคที่มีความยืดหยุ่น (3) มีการกำกับดูแลภาคการเงินที่เข้มแข็ง (4) ให้ความสำคัญกับโครงข่ายความปลอดภัยทางการเงินของภูมิภาค (Regional Financial Safety Net) และ (5) ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ (Inequality Reduction) ผ่านการใช้เครื่องมือทางการคลัง ในส่วนของประเทศไทยนั้น นายกิตติรัตน์ฯ ได้กล่าวถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมาว่า ภายหลังจากสถานการณ์มหาอุทกภัย ประเทศไทยได้กลับมาขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงที่ร้อยละ 6.5 อีกครั้งในปี 2555 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปี 2556 และในไตรมาสแรกของปี 2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นว่า หากการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัฐบาลจะสามารถดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางเพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

2. ที่ประชุมได้หารือความคืบหน้าในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของกลไกความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างกันของประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน+3 หรือมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) โดยเฉพาะความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมของกลไกในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ CMIM และการจัดทำรายละเอียดแนวทางปฏิบัติเมื่อประเทศสมาชิกต้องการรับความช่วยเหลือ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าสมาชิกจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีแนวโน้มว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้อาเซียน+3 เสริมสร้างความร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ CMIM และพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงานของ AMRO

3. ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบการต่ออายุการดำรงตำแหน่งของนายโยอิชิ เนโมโตะ ผู้อำนวยการ AMRO ซึ่งจะครบวาระในเดือนพฤษภาคมนี้ไปอีก 2 ปี (จนถึงปี 2559) และขอให้ AMRO เร่งพัฒนาโครงสร้างองค์กรให้มีความแข็งแกร่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งได้เน้นย้ำให้ AMRO พัฒนาคุณภาพของรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องมีการวิเคราะห์

ความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคและของประเทศสมาชิก และให้ข้อเสนอแนะด้านนโยบายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ อาเซียน+3 จะร่วมกันดำเนินการเร่งรัดการยกระดับ AMRO ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศโดยเร็ว

4. ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้มีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออมของภูมิภาค โดยมีความคืบหน้าหลัก ได้แก่ 1) การเพิ่มขีดความสามารถในการค้ำประกันการออกตราสารหนี้ของกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน+3 (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) จาก 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1,750 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ CGIF สามารถให้บริการค้ำประกันการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนของอาเซียน+3 ได้มากยิ่งขึ้น และ 2) ความสำเร็จในการจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อประสานกฎเกณฑ์การออกตราสารหนี้เงินสกุลท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 โดยขณะนี้ มีสมาชิกเข้าร่วมได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยการหารือในลักษณะกลุ่มย่อยนี้จะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 สามารถประสานกฎเกณฑ์การออกตราสารหนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

5. การประชุม AFMGM+3 ครั้งต่อไปในปี 2558 จะจัดขึ้น ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยมีประเทศมาเลเซียและเกาหลีใต้ ทำหน้าที่เป็นประธานร่วม

สำนักการเงินการคลังอาเซียน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02 273 9020 ต่อ 3619

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง