สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “3 สาเหตุนำไปสู่พฤติกรรมกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน”

พฤหัส ๐๑ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๕:๒๑
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษา" สำรวจระหว่างวันที่ 26 ถึง 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,089 คน

ปัญหาการกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ขู่เข็ญ ระหว่างนักเรียนภายในสถานศึกษาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังซึ่งมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้นรวมถึงมีความรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ทั้งนี้ ในหลายกรณีได้มีการนำภาพขนาดเกิดการกลั่นแกล้งมาเผยแพร่ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนเป็นวงกว้างทำให้เกิดผลกระทบกับทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ รวมถึงสร้างความรู้สึกสะเทือนใจให้กับผู้พบเห็น โดยผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่านักเรียนที่มีพฤติกรรมชอบกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ขู่เข็ญนักเรียนคนอื่นนั้นเกิดจากความคึกคะนองตามวัยหรือเกิดจากการทำตามๆ กัน ซึ่งควรนำนักเรียนกลุ่มนี้มาเข้าสู่กระบวนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขณะที่ผู้คนส่วนมากมีความคิดเห็นว่าผู้บริหารสถานศึกษาและครูอาจารย์ไม่สนใจและปล่อยปละละเลยรวมถึงไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว

ขณะเดียวกันผู้บริหารและครูอาจารย์ยังอาจไม่เข้าใจวิธีการดูแลนักเรียนพิเศษหรือนักเรียนพิการซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีแนวโน้มถูกกลั่นแกล้งอย่างถูกต้องเหมาะสม และเวลาเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นก็มักจะแก้ปัญหาโดยให้ความสำคัญกับชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของสถานศึกษาเป็นหลัก จากประเด็นดังกล่าวสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษา

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศชายร้อยละ 48.03 และเพศหญิงร้อยละ 51.97 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่ทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษาตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ความคึกคะนองตามวัยของตัวนักเรียนคิดเป็นร้อยละ 84.11 พฤติกรรมเลียนแบบ/ทำตามเพื่อน/เพื่อนชักชวนคิดเป็นร้อยละ 82.19 ขาดการดูแลเอาใจใส่จากครูอาจารย์คิดเป็นร้อยละ 79.98 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 77.41 ระบุว่าผู้บริหารโรงเรียนไม่ให้ความสำคัญกับปัญหา

ในด้านความกังวลต่อปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญที่จะเกิดกับบุตรหลานนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.21 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกังวลว่าบุตรหลานของตนจะถูกนักเรียนในสถานศึกษาเดียวกันกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.52 ระบุว่าไม่กังวล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.27 ไม่แน่ใจ

ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทช่วยลดปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษาลงได้มากที่สุด 3 กลุ่ม คือ พ่อแม่ผู้ปกครองคิดเป็นร้อยละ 90.08 ครูอาจารย์/ผู้บริหารโรงเรียนคิดเป็นร้อยละ 88.15 และนักเรียนรุ่นพี่ในโรงเรียนคิดเป็นร้อยละ 84.76 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82.55 ระบุว่าเพื่อนนักเรียน

ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ขู่เข็ญในสถานศึกษานั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.76 มีความคิดเห็นว่าการที่ผู้บริหารสถานศึกษาแก้ปัญหาเมื่อเกิดกรณีนักเรียนกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญโดยให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์/ชื่อเสียงของสถานศึกษามีส่วนทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญระหว่างนักเรียนภายในสถานศึกษามีมากขึ้น

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.32 มีความคิดเห็นว่าการที่ผู้บริหารสถานศึกษาใช้วิธีการไกล่เกลี่ยประนีประนอมเมื่อเกิดกรณีนักเรียนกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญมีส่วนทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญระหว่างนักเรียนภายในสถานศึกษามีมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.52 มีความคิดเห็นว่าการที่ผู้บริหารสถานศึกษาไม่เข้าใจวิธีการดูแลนักเรียนพิเศษ/พิการที่ถูกต้องมีส่วนทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญระหว่างนักเรียนภายในสถานศึกษามีมากขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบวิธีการแก้ปัญหานักเรียนที่มีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญในสถานศึกษาระหว่างการเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกับการเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีทางกฎหมาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.29 มีความคิดเห็นว่าควรใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.43 มีความคิดเห็นว่าการให้เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีความเหมาะสมกว่า โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.28 มีความคิดเห็นว่าการให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีทางกฎหมายมีความเหมาะสมกว่า

ในด้านการกำหนดบทลงโทษและความจำเป็นในการแก้ปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ขู่เข็ญภายในสถานศึกษานั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.92 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดบทลงโทษทางวินัย/อาญากับผู้บริหารสถานศึกษาที่ปล่อยปละละเลยให้สถานศึกษาของตนเกิดปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.45 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดบทลงโทษกับผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานของตนเองมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญนักเรียนคนอื่นอย่างต่อเนื่องภายในสถานศึกษา และกลุ่มตัวอย่างประมาณสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 80.35 มีความคิดเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษาอย่างเด็ดขาดเข้มงวดมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง