พันธบัตรเอเชีย...เครื่องมือทางการคลังที่ สปป.ลาว ใช้ระดมทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ

อังคาร ๑๕ มิถุนายน ๒๐๑๐ ๑๑:๓๓
"พันธบัตรเอเชีย (Asian Bond) คือ พันธบัตรที่รัฐบาลในภูมิภาคเอเชียร่วมกันออกหรือร่วมกันพัฒนา ครอบคลุมพันธบัตรของรัฐบาล/หน่วยงานของรัฐ ตราสารหนี้ของสถาบันการเงิน/บริษัทเอกชนที่มีอยู่แล้ว รวมถึงการออกตราสารหนี้ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อระดมเงินทุนในภูมิภาคเอเชียให้กับรัฐบาลและเอกชนในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน แทนการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากนอกภูมิภาคดังเช่นในอดีต"

แนวคิดและความเป็นมาของพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond)

วิกฤตเศรษฐกิจเอเชียที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 สะท้อนให้เห็นว่า การพึ่งพาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของแต่ละประเทศเพียงลำพัง

ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เมื่อประกอบกับการที่ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากระบบธนาคารในประเทศ รวมทั้งพึ่งพาแหล่งเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น ธนาคารพาณิชย์ในเอเชียรวมทั้งไทยต่างประสบปัญหาและขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเอเชียในช่วงนั้น จึงเร่งถอนเงินทุนจำนวนมากออกไป ทำให้เงินทุนไหลออกจากภูมิภาคเอเชียอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อค่าเงินของประเทศต่างๆ ในเอเชียโดยถ้วนหน้า รวมทั้งเงินบาทของไทยที่ดิ่งลงเป็นประวัติการณ์จนแตะระดับต่ำสุดที่ 56.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2541

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่มาของแนวคิดเกี่ยวกับพันธบัตรเอเชีย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินทุนจากในภูมิภาคมาใช้ประโยชน์กับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เมื่อประกอบกับศักยภาพเงินออมของเอเชียที่พบว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนเงินออมภายในประเทศต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Domestic Savings/Gross Domestic Product) อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 30 อีกทั้งยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศสะสมเป็นสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 60 ของเงินสำรองระหว่างประเทศทั้งหมดของโลก ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ของเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศในเอเชียทั้งหมดถูกนำไปลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ด้วยการซื้อสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลจากตลาดเงินและตลาดทุนของภูมิภาคเอเชียยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ซึ่งเท่ากับว่าประเทศในเอเชียเป็นผู้ปล่อยกู้หรือเข้าไปลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ท้ายที่สุดกลับต้องระดมเงินทุนของตนกลับคืนมาจากประเทศเหล่านี้ในรูปของเงินกู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน ดังนั้น หากประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมมือกันบริหารจัดการเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ ด้วยการนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ภายในภูมิภาค ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียโดยตรง

สปป.ลาว กับการออกพันธบัตรเอเชีย

ปัจจุบัน สปป.ลาว อยู่ในช่วงของการพัฒนาประเทศ ประกอบกับ สปป.ลาว เป็นประเทศหนึ่งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย ทั้งป่าไม้ และแร่ชนิดต่างๆ อาทิ ทองแดง ทองคำ และดีบุก อีกทั้งยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทำให้ สปป.ลาว มีศักยภาพด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และตั้งเป้าสู่การเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของเอเชีย (Battery of Asia) ภายในปี 2563 ส่งผลให้ สปป.ลาว ต้องการแหล่งเงินทุนจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาประเทศและวางระบบสาธารณูปโภคต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนสร้างเขื่อนเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ อย่างไรก็ตาม รัฐบาล สปป.ลาว ยังคงประสบความยากลำบากในการระดมทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากต้องเผชิญกับเงื่อนไขและอุปสรรคด้านต่างๆ ที่ผู้ให้กู้กำหนดให้ต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะนโยบายทางเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมักเป็นข้อกำหนดในการขอกู้เงินจากองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งเงินกู้หลักของรัฐบาล สปป.ลาว คือ ธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ซึ่งมีมูลค่าเงินกู้และเงินช่วยเหลือรวมราว 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 30 ของ GDP สปป.ลาว ดังนั้น การออกพันธบัตรเอเชียจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนที่รัฐบาล สปป.ลาว ให้ความสนใจมาก และเป็นเครื่องมือทางการคลังที่มีประสิทธิภาพเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากไม่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ ดังกล่าว ทั้งนี้ การออกพันธบัตรเอเชียของรัฐบาล สปป.ลาว อาจกระทำได้โดยการออกพันธบัตรเป็นสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศที่รัฐบาล สปป.ลาว ต้องการเข้าไประดมทุน เช่น การออกพันธบัตรเป็นสกุลเงินบาท (Baht Bond) เพื่อเข้ามาระดมทุนในประเทศไทย เป็นต้น พร้อมทั้งกำหนดรายละเอียดต่างๆ ของพันธบัตร อาทิ ประเภทของพันธบัตร ระยะเวลาไถ่ถอน และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร ซึ่งมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศที่เข้าไประดมทุน โดยรัฐบาล สปป.ลาว จะนำรายได้ของรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ เช่น ค่าสัมปทาน (Royalty Fee) มาชำระผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนในพันธบัตร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาล สปป.ลาว ยังไม่ได้รับการจัดอันดับจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนในต่างประเทศ

บทบาทของ EXIM BANK กับพันธบัตรเอเชีย

EXIM BANK ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการออกพันธบัตรเอเชียในรูปสกุลเงินบาท เพื่อระดมเงินทุนไปช่วยพัฒนาโครงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ สปป.ลาว ที่ยังขาดแคลนแหล่งเงินทุนจำนวนมาก ทั้งนี้ EXIM BANK สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม อาทิ

ทำหน้าที่ผู้จัดการการจัดจำหน่าย (Underwriter) พันธบัตร/หุ้นกู้ในตลาดแรก (Primary Market) และ/หรือ ร่วมให้สินเชื่อแก่โครงการสาธารณูปโภคของประเทศเพื่อนบ้าน และนำสินเชื่อดังกล่าวมาแปลงเป็นหลักทรัพย์เพื่อออกเป็นหุ้นกู้สกุลเงินบาท (Securitization)

ทำหน้าที่ประกันความน่าเชื่อถือของพันธบัตรประเทศเพื่อนบ้าน หากรัฐบาลหรือหน่วยงานของประเทศเพื่อนบ้านมีความประสงค์จะระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรสกุลเงินบาทในประเทศไทย

ทั้งนี้ การที่ EXIM BANK เข้าไปช่วยสนับสนุนการออกพันธบัตร/หุ้นกู้สกุลเงินบาทของ สปป.ลาว ดังกล่าวข้างต้น นอกจากเป็นการช่วยพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนใน สปป.ลาว และสร้างประสบการณ์ในการออกพันธบัตรให้แก่ สปป.ลาว เพื่อให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศในระยะยาวแล้ว ยังนับเป็นการสร้างความหลากหลายให้แก่ตลาดพันธบัตรไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย ตลอดจนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK

โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 2131

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๑ พ.ค. เฮลท์สเคป (Healthscape)' นำร่องส่ง 'MADE BY SILVER' ชวนสัมผัสผลิตภัณฑ์เพื่อไลฟ์สไตล์สำหรับกลุ่มซิลเวอร์เจน 20 พ.ค. - 2 มิ.ย. 67 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็ม
๒๑ พ.ค. HENG เสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 จำนวน 2 ชุด อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.25% และ 5.50% เปิดจองซื้อ 23-24 และ 27 พ.ค. 67 เดินหน้าเสริมแกร่งธุรกิจ
๒๑ พ.ค. กลุ่มบริษัทศรีตรัง ลุยติดตั้ง EV Charger ในโรงงานทั่วประเทศ สนับสนุนพนักงานใช้พลังงานสะอาด ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอกย้ำจุดยืน Green Rubber
๒๑ พ.ค. Bitkub Chain และ The Sandbox ร่วมยกระดับวงการ Metaverse ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๒๑ พ.ค. AJA โชว์แกร่ง!! งบโค้งแรกพลิกมีกำไรพุ่งเกือบ 452% ชูกลยุทธ์ปี 67 กระจายลงทุนในธุรกิจหลากหลาย-สร้างฐานการเติบโตยั่งยืน
๒๑ พ.ค. KJL โชว์นวัตกรรมในงาน SUBCON Thailand 2024 เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า
๒๑ พ.ค. ITEL อวดกำไร Q1/67 โต 113% กำไรสุทธิ 123 ล้านบาท ล่าสุด ก.ล.ต. ไฟเขียวนับหนึ่งไฟลิ่ง บ.ย่อย BLUE เรียบร้อยแล้ว
๒๑ พ.ค. โอยิกะ ผู้นำด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากสิงคโปร์ ชูนวัตกรรมพลังงานสะอาด มุ่งขยายธุรกิจตู้สลับแบตเตอรี่สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
๒๑ พ.ค. ดื่มด่ำกับรสชาติของเนื้อโกเบจากโอซาก้า ที่ห้องอาหารฮากิ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
๒๑ พ.ค. W9 เผยไทยเผชิญฝุ่นพิษล้อมเมืองติดอันดับโลก เปิด 5 กลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นพิษ ภัยเงียบสะสม แนะวิธีรับมือเชิงเวลเนส