ทีดีอาร์ไอไม่ห่วงแรงงานต่างด้าว จัดระบบดีคุมได้แน่

พุธ ๑๐ สิงหาคม ๒๐๑๑ ๑๖:๕๒
ทีดีอาร์ไอระบุ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวเพิ่ม 7 เท่า จาก 2.9 แสนคนเป็นกว่า 2 ล้านคนในปัจจุบัน พิสูจน์นโยบายผ่อนผันไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ยั่งยืน เสนอเร่งจัดระบบการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างเหมาะสมเท่าที่จำเป็น และปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างจริงจัง จะควบคุมได้ ไม่เพิ่มจำนวน คาดอีก 5 ปี หมดยุคแรงงานราคาถูก

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเปิดเผยประมาณการณ์ความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างด้าว โดยสำหรับการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือนั้น อีก 5 ปีข้างหน้าจะหมดยุค “แรงงานต่างด้าวราคาถูก” แนะนายจ้างเร่งปรับตัวใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรเข้ามาเสริมแรงงานคน ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวระดับบน(ฝีมือดี) ซึ่งรัฐละเลยมานานและเป็นจุดอ่อนเสมอมา คือ ปล่อยให้นักลงทุนข้ามชาติใช้เงื่อนไขด้านการค้าและการลงทุน นำคนของตัวเองเข้ามาทำงาน โดยมักอ้างคุณสมบัติความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น เฉพาะที่ผ่านช่องทางส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ มีจำนวนมากกว่า 2.3 หมื่นคน ทั้งที่มีแรงงานฝีมือไทยสายตรงที่สามารถทำได้เช่นสายวิทยาศาสตร์ ตกงานกว่า 3-4 หมื่นคน และหากต้องการแรงงานทั่วไปก็มีแรงงานไทยสายสังคมตกงานอีกกว่า 6-7 หมื่นคนซึ่งสามารถเพิ่มศักยภาพให้ทำงานได้ จึงไม่ค่อยยุติธรรมกับแรงงานไทยที่ยังว่างงานอยู่และมีศักยภาพเพียงพอ

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ความจำเป็นของการใช้แรงงานต่างด้าวนั้นมีมานานแล้ว ผู้ประกอบการบางส่วนจำเป็นต้องรับแรงานต่างด้าวเข้าทำงานในลักษณะงานที่แรงงานไทยไม่ทำหรือไม่มีทักษะเพียงพอ การจัดการของรัฐมุ่งเน้นไปที่กลุ่มแรงงานต่างด้าวระดับล่างซึ่งเป็นปัญหาและมีจำนวนมาก โดยในช่วง 15 ปี (พ.ศ.2540-2554) มีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 2.9 แสนคนในปี 2540 เป็น 1.3 ล้านคน (เฉพาะส่วนที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง)ในปี 2554 และเมื่อรวมกับจำนวนแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนสิ้นสุดไปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาซึ่งคาดว่ามีไม่น้อยกว่า 7 แสนคน จะทำให้มีจำนวนแรงงานต่างด้าวในปัจจุบันกว่า 2 ล้านคน และในช่วง 15 ปีก็พบว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวขึ้น ๆ ลง ๆ มาตลอด เป็นผลจากนโยบายผ่อนผันที่ไม่ได้ผลและความไม่จริงจังในการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆรวมทั้งความไม่เข้มงวดเพียงพอของมาตรการ ตรวจ จับ ส่งกลับที่ ทำให้มีแรงงานย้อนกลับเข้ามาอยู่อย่างไม่ถูกต้อง ทำให้มีแรงงานต่างด้าวระดับล่างกว่า 40% ที่อยู่ในประเทศไทยในลักษณะกึ่งผิดกึ่งถูก

อย่างไรก็ตามในระยะยาวปัญหาแรงงานต่างด้าวไม่น่าวิตกเมื่อสามารถจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบัน มีการควบคุมที่ชัดเจนขึ้นโดยครั้งนี้เป็นปีสุดท้ายที่เปิดให้มีการขึ้นทะเบียน และจะไม่มีการขยายจำนวนหรือผ่อนผันเพิ่มขึ้นอีก ยกเว้นในบางสาขาที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจจำเป็นต้องใช้ภายใต้เงื่อนไข การนำเข้าแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือจะเปลี่ยนไปใช้วิธีนำเข้าผ่าน MOUซึ่งไทยทำไว้กับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา แต่ก็ไม่น่าห่วงเพราะแต่ละปีมีจำนวนเพียง 1% หรือราว 2 หมื่นคนของจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดและในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างดีในการพิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะประเทศพม่าซึ่งแรงงานมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์สัญชาติมากที่สุดนั้น ก็สามารถพิสูจน์สัญชาติได้แล้วกว่า 5 แสนคน จึงคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจำนวนแรงงานต่างด้าวโดยรวมไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน

การดำเนินการต่าง ๆ จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมและการจ้างงาน จะไม่มีแรงงานราคาถูกอีกต่อไป และการนำเข้าแรงงานมาเติมความขาดแคลนระหว่างปีโดยผ่านช่องทาง MOU นั้น จะเป็นแรงงานถูกกฎหมาย และได้สิทธิสวัสดิการต่าง ๆ เช่นเดียวกับแรงงานไทย ซึ่งจูงใจที่จะทำให้มีการนำเข้าแรงงานผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่า จะมีการนำเข้าได้ไม่มาก เนื่องจากแรงงานมีภาระต้นทุน “ค่าหัว”ในการเดินทางที่ต้องจ่ายทั้งในประเทศตนเองและประเทศปลายทาง โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 1.2 หมื่นบาทเป็น1.5-2 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าสูงสำหรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนนายจ้างไม่เพียงมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานเพิ่มแต่ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับโบรกเกอร์จัดหางานด้วย จึงเป็นต้นทุนที่สูง จึงต้องพิจารณาเรื่องการปรับตัวของอุตสาหกรรม การนำเทคโนโลยีและเครื่องจักร มาใช้ควบคู่กับการใช้จำนวนแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในจำนวนที่จำเป็นมาทำงานควบคู่กับแรงงานไทยซึ่งฝีมือดีกว่า ก็จะช่วยเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนได้

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าวิตกคือ ปัญหาคอร์รัปชั่นและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องนี้ จึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และต้องสร้างความชัดเจนในเชิงนโยบาย ทิศทางการใช้แรงงานของภาคอุตสาหกรรม ที่จะทำให้เกิดการใช้แรงงานระดับล่างหรือระดับกลางน้อยลง เพราะปัจจุบันเรามีปัญหามีแรงงานระดับสูงว่างงานจำนวนมาก ซึ่งการจะทำให้เกิดความชัดเจนได้นั้นควรเร่งรัดการออกกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ให้ออกมาอย่างครบถ้วนจะทำให้สามารถกำกับดูแลการใช้แรงงานต่างด้าวได้ชัดเจนทั้งในเชิงนโยบายและการปฎิบัติ อาทิ เรื่องการคุ้มครองอาชีพสำหรับคนไทย และการอนุญาตทำงานในช่วงเวลาต่าง ๆ ฯลฯ

นอกจากนี้ควรติดตามประเมินผลการดำเนินตามนโยบายอย่างต่อเนื่อง และสิ่งสำคัญคือ หน่วยงานภาครัฐควรมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวซึ่งมีความจำเป็น เพราะการกำหนดโควต้าหรือจำนวนแรงงานต่างด้าวที่จะนำเข้ามานั้นมักมาจากการร้องขอของผู้ประกอบการแต่หน่วยงานกำกับดูแลและการตัดสินใจเชิงนโยบายไม่มีข้อมูลของตนเอง และไม่ได้ผ่านกลไกของสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีหรือไต้หวัน จะให้ความสำคัญกับส่วนนี้ โดยภาครัฐกำหนดความต้องการของทั้งประเทศในแต่ละปี จากนั้นเป็นบทบาทของสมาคมวิชาชีพไปจัดสรรความต้องการแท้จริงของแต่ละสาขาอาชีพ สำหรับประเทศไทยไม่มีข้อมูลที่แท้จริงว่าจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวในสาขาต่าง ๆ จำนวนมากน้อยแค่ไหน และควรจัดเก็บข้อมูลที่สามารถติดตามได้ว่าระหว่างมาทำงานนั้นแรงงานมีการย้ายที่อยู่หรือเปลี่ยนนายจ้างไปอยู่ที่ไหนอย่างไร ซึ่งตามเงื่อนไขของใบอนุญาตทำงานในปัจจบันเป็นการทำผิดเพราะเขาไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างหรือไปทำงานนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตได้

“ ในอนาคตเรื่องแรงงานต่างด้าวในแง่จำนวนไม่น่าห่วง เพราะวงรอบของการใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ในภาวะสูงสุดแล้ว และกำลังจะหยุดนิ่งและลดลง หากมีการจัดระบบควบคุมให้เป็นไปตามกฎกติกา อย่างจริงจังจึงจะทำให้มีการใช้แรงงานอย่างเต็มศักยภาพทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในสัดส่วนที่ไม่สร้างผลกระทบต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม อาชญากรรม ซึ่งต้องใช้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น”

ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า สำหรับนโยบายของรัฐบาลการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทนั้นหากทำได้จริงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ให้กับโครงสร้างค่าจ้างและอุตสาหกรรมไทย ที่จะต้องปรับตัว และยกระดับการพัฒนาของประเทศขึ้นไปอีกขั้นหลังจากติดกับดักอยู่ในประเทศกำลังพัฒนามายาวนาน นโยบายนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง หากทำได้สำเร็จก็จะเกิดคุณูปการแก่ตัวแรงงานและประเทศชาติในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกทางหนึ่ง.

เผยแพร่โดย ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ

โทร.0-2270-1350 ต่อ 113 (ศศิธร) หรือ e-mail:[email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ หาดทิพย์ มอบรถรถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน ให้โรงพยาบาลท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ประสบเหตุและประสบภัยด้านสุขภาพ
๑๗:๐๓ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เดินหน้าแผน Circular Economy ลุยโปรเจกต์ Urban Mining สู่การสร้างวัสดุทดแทนชิ้นส่วนรถยนต์ในขั้นตอนการผลิต
๑๗:๓๒ บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป เล่นใหญ่ เสิร์ฟพิซซ่า ร่วมเฉลิมฉลอง Bitcoin Pizza Day
๑๗:๑๑ GRAND - PF - SUMITOMO ผนึกกำลัง เปิด Grande Lounge ใจกลางเมืองห้างเอ็มโพเรียม ตอบรับกระแสนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ
๑๗:๒๓ FTI ล็อคเป้ารายได้ปีนี้ 930 ลบ. Q1/67 โกยแล้ว 195.91 ลบ. ชูกลยุทธ์ขยายสาขา-กำลังผลิต-ร่วมทุน ดันรายได้โต 3
๑๗:๔๔ เชฟชุมพล จับมือ ททท. ยกขบวน Soft Power อาหารไทยและการท่องเที่ยว ลุยโปรโมทในงาน สงกรานต์มินนิโซตา
๑๗:๐๕ ว.การบินและคมนาคม SPU เปิดประสบการณ์จริง! เรียนรู้แบบเจาะลึก การปฏิบัติงานภาคพื้น กับมืออาชีพสายการบิน
๑๗:๑๘ ยัวซ่า ร่วมสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนไทยแลนด์ ยูธ คัพ ชิงถ้วยประทาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนาถ
๑๗:๑๖ เมสัน ร่วมปล่อยเต่าทะเล ในวันเต่าโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ตอกย้ำแนวคิด MASON BETTER TOGETHER - GIVING TOGETHER
๑๗:๓๔ EKH ส่งสัญญาณ Q2 โตแกร่ง ผู้ป่วย OPD - IPD-ศูนย์ IVF - รพ.คูนหนุนเต็มเหนี่ยว ปักหมุดลุยธุรกิจสุขภาพไม่ยั้ง มั่นใจปั๊มผลงานโตไม่ต่ำกว่า