สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “5 ปัจจัยสำคัญที่สถานประกอบการต่างๆ ไม่ยอมรับคนพิการเข้าทำงาน”

จันทร์ ๐๓ ธันวาคม ๒๐๑๘ ๑๒:๓๖
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เปิดเผยผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของผู้พิการต่อการจ้างงานตามมาตรา 33 และ 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" สำรวจระหว่างวันที่ 24 ถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 511 คน

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่เป็นคนพิการจำนวนประมาณ 1.9 ล้านคน โดยเป็นคนพิการที่อยู่ในวัยแรงงาน (อายุ 15 ถึง 60 ปี) ประมาณ 819,000 คน ทั้งนี้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 ระบุว่าหากสถานประกอบการใดมีพนักงานถึง 100 คน ต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน ขณะที่มาตรา 34 ระบุว่าหากสถานประกอบการใดไม่มีความประสงค์ที่จะจ้างงานคนพิการต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในอัตรา 365*ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันต่อปี

นอกจากนั้นในมาตรา 35 กำหนดให้สถานประกอบการสามารถจัดสัมปทาน บริการ หรือการช่วยเหลืออื่นใดกับคนพิการแทนการจ้างงานและการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เช่น การให้สัมปทาน การให้ใช้พื้นที่ การจ้างเหมาบริการ การฝึกอบรม การจัดให้มีล่ามภาษามือ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และการช่วยเหลืออื่นใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ถึงแม้ข้อกำหนดในมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสการมีงานทำและการประกอบอาชีพให้กับคนพิการ แต่ก็ยังมีคนพิการอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการมีงานทำ ทั้งนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนะคติเกี่ยวกับความสามารถของคนพิการ รวมถึงความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกกับคนพิการ ประกอบกับสถานประกอบการบางแห่งนำชื่อคนพิการเข้าไปแอบอ้างเป็นพนักงานโดยไม่ได้ให้คนพิการทำงานจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย

ดังนั้น เนื่องในโอกาสวันคนพิการสากล 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ที่จะมาถึงนี้ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้พิการต่อการจ้างงานตามมาตรา 33 และ 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้พิการทางการเห็น ผู้พิการทางการได้ยิน และผู้พิการทางด้านร่างกาย แบ่งเป็นเพศชายร้อยละ 52.64 และร้อยละ 47.36 เป็นเพศหญิง สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.86 ทราบว่าหากหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการใดมีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างพนักงานที่เป็นคนพิการอย่างน้อย 1 คน ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.14 ไม่ทราบ

ในด้านความคิดเห็นต่อข้อกำหนดตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.84 มีความคิดเห็นว่าข้อกำหนดตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำได้จริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.97 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดให้หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการทุกแห่งต้องรับคนพิการเข้าเป็นพนักงานอย่างน้อยหนึ่งคนโดยไม่มีการกำหนดจำนวนพนักงานขั้นต่ำจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำได้มากขึ้น

ในด้านความคิดเห็นต่อการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.12 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการใดที่ไม่จ้างคนพิการเข้าเป็นพนักงานต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในจำนวนเงินเท่ากับ 365 วัน คูณด้วยค่าจ้างรายวันขั้นต่ำเป็นอัตราที่ไม่น้อยเกินไป ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.88 มีความคิดเห็นว่าหากมีการเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในกรณีที่หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าเป็นพนักงานให้สูงขึ้นจะไม่มีส่วนเพิ่มแรงจูงใจให้หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการเหล่านั้นรับคนพิการเข้าเป็นพนักงานแทนการจ่ายเงินสมทบได้

สำหรับปัจจัยสำคัญ 5 อันดับที่ส่งผลให้หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการยังไม่รับคนพิการเข้าเป็นพนักงานและให้ปฏิบัติงานจริงได้แก่ ทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับความสามารถของคนพิการคิดเป็นร้อยละ 82.39 ขาดความรู้ความเข้าใจในการอำนวยความสะดวก/ช่วยเหลือผู้พิการคิดเป็นร้อยละ 80.04 คนพิการขาดทักษะฝีมือในการทำงานคิดเป็นร้อยละ 75.93 ข้อจำกัดด้านคุณวุฒิทางการศึกษาของคนพิการคิดเป็นร้อยละ 74.95 และไม่มีตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับคนพิการประเภทใดเลยคิดเป็นร้อยละ 72.8

ในด้านการแอบอ้างชื่อคนพิการเข้าเป็นพนักงานตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.3 เชื่อว่ามีหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการนำชื่อคนพิการไปแอบอ้างเป็นพนักงานตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินสมทบกองทุนโดยไม่มีการรับเข้าทำงานจริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.52 เชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจกับการที่หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการนำชื่อคนพิการไปแอบอ้างเป็นพนักงานตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินสมทบกองทุนโดยไม่มีการรับเข้าทำงาน

ในด้านความคิดเห็นต่อการจ้างคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.32 ไม่เห็นด้วยกับการที่หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการจ้างคนพิการเข้าเป็นพนักงานตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแต่ให้คนพิการไปทำงานในหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการอื่นแทน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.09 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.59 ไม่แน่ใจ

ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60.47 เห็นด้วยว่าหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการที่รับคนพิการเข้าเป็นพนักงานตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการควรให้คนพิการทำงานในหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการที่รับมากกว่าการส่งให้ไปทำงานยังหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการอื่น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.33 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.2 ไม่แน่ใจ

ในด้านความคิดเห็นต่อข้อกำหนดตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.27 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการช่วยเหลือคนพิการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เช่น การให้สัมปทานใช้พื้นที่ขายสินค้าหรือบริการ จ้างเหมาบริการ ฝึกอบรม การจัดให้มีล่ามภาษามือ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และการช่วยเหลืออื่นใดเพื่อส่งเสริมอาชีพจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำได้จริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.12 มีความคิดเห็นว่าไม่มีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.61 ไม่แน่ใจ

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.49 มีความคิดเห็นว่าทั้งมาตรา 33 และ 35 มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำได้เท่าๆ กัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.68 มีความคิดเห็นว่ามาตรา 33 มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำได้มากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.59 มีความคิดเห็นว่ามาตรา 35 มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการได้มากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.24 ระบุว่าทั้งสองมาตราไม่มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสเลย

หมายเหตุ : 1.หากต้องการใช้ตัวย่อสำหรับ "วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม" ขอความกรุณาท่านสื่อมวลชนใช้คำว่า วทส. หรือ STC (สอนระดับปริญญาตรี-โท-เอก) ถ้าย่อคำว่า Siamtech (สยามเทค) (สอนระดับปวช.ปวส.) เป็นคนละสถาบันการศึกษา และ 2.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามเป็นคนละสถาบันกันกับมหาวิทยาลัยสยาม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง