1. สภาพชั้นดินของ กทม. เป็นชั้นดินเหนียวอ่อน จะขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3-4 เท่า จึงทำให้อาคารได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวดังกล่าว
2. อาคารสูง เช่น คอนโดมีเนียม อาคารสำนักงาน ที่มีความสูง 10 ชั้นขึ้นไปมีค่าความถี่ธรรมชาติพ้องกับดิน ทำให้สั่นแรงผิดปกติ
3. อาคารสูงหลายแห่งใน กทม. หากก่อสร้างก่อนปี 2550 มีแนวโน้มที่จะไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว
ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ประเทศลาวในครั้งนี้ น่าจะอยู่ในขั้นน้อยถึงปานกลาง กล่าวคือทำให้ผู้คนรับรู้ถึงการสั่นสะเทือนของอาคารและอาจทำให้อุปกรณ์ประกอบอาคารเช่น ฝ้าเพดาน ได้รับความเสียหายบ้าง ส่วนความเสียหายทางโครงสร้างคงไม่มากนัก ทั้งนี้เจ้าของอาคารไม่ควรประมาท ควรจัดให้มีวิศวกรโครงสร้างเพื่อตรวจสอบองค์อาคารที่สำคัญเช่น คาน เสา กำแพงรับแรงเฉือนเป็นต้น
ศ.ดร.อมร เผยต่อว่า สำหรับอาคารสูงใน กทม. จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีแหล่งกำเนิด 3 แห่งได้แก่
1.รอยต่อแผ่นเปลือกโลกในมหาสมุทรอินเดีย มีความแรง 8-9.5 ริกเตอร์ ระยะทางห่างจาก กทม. 1,200 กม.
2.รอยเลื่อนทางภาคเหนือและประเทศลาวมีความแรง 6-7 ริกเตอร์ ระยะทางห่างจาก กทม. 600-700 กม. และ
3.รอยเลื่อนทางภาคตะวันตก (ศรีสวัสดิ์ และ เจดีย์สามองค์) และประเทศพม่า (รอยเลื่อนสะแกง) มีความแรง 6-8 ริกเตอร์ ระยะทางห่างจาก กทม. 200-400 กม. ทั้งนี้จะต้องจับตารอยเลื่อนสะแกงในพม่าเป็นพิเศษเนื่องจากอาจเกิดแผ่นดินไหวได้ถึง 8.5 ริกเตอร์ และมีระยะทางห่างจาก กทม. เพียง 400 กม. ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้อาคารใน กทม. ได้
เนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และในพื้นที่ กทม. ก็มีอาคารอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งอาคารบางลักษณะอาจมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เช่น 1. ตึกแถวเนื่องจากมีลักษณะเสาเล็กแต่คานใหญ่ 2. อาคารพื้นท้องเรียบไร้คาน 3. อาคารสูงที่มีลักษณะไม่สมมาตรหรือที่ชั้นล่างเปิดโล่ง 4. อาคารที่ก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่ข้อต่อไม่แข็งแรง 5. อาคารที่ทำการต่อเติมและทำทางเดินเชื่อมต่อกัน ดังนั้นเพื่อให้ความเกิดความปลอดภัย จึงควรเตรียมความพร้อมรับมือโครงสร้างอาคารให้แข็งแรง ดังนี้
1. สำหรับอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่
ต้องปฏิบัติตาม กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ที่เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และวิศวกรผู้ออกแบบจะต้องใช้มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวที่ออกโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองหรือ มยผ. 1302
2. สำหรับอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2550
อาคารเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว จึงควรจะต้องประเมินอาคารเพื่อตรวจสอบสมรรถนะในการต้านแผ่นดินไหว และ หาทางเสริมความแข็งแรงอาคารในกรณีที่ตรวจพบว่าอาคารไม่แข็งแรงพอ ซึ่งการเสริมความแข็งแรงอาคารทำได้หลายวิธี เช่น การติดตั้งโครงเหล็กค้ำยัน การหุ้มด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ การหุ้มด้วยแผ่นเหล็ก การพอกเสาให้ใหญ่ขึ้น เป็นต้น
ขณะนี้ คณะนักวิจัยของ ผศ.ดร. ภาสกร ปนานนท์ ซึ่งกำลังดำเนินงานวิจัยในโครงการ การศึกษาสภาวะความเค้นของธรณีภาคบริเวณประเทศไทยและการตรวจสอบรูปทรงของรอยเลื่อนมีพลังแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ จากแผ่นดินไหวขนาดเล็กมาก เพื่อการลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวของประเทศไทย ที่ได้รับทุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวในบริเวณใกล้เคียงการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดน่าน จำนวน 4 สถานี เพื่อติดตามการเกิดอาฟเตอร์ช้อค โดยพบว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กจำนวนมากในพื้นที่รอบๆ ศูนย์กลางแผ่นดินไหว และกำลังศึกษากลไกลการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้เพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อรอยเลื่อนมีพลังในบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป เพื่อช่วยสนับสนุนการวางแผนลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อไปในอนาคต
แนวทางการตรวจสอบอาคารและสิ่งปลูกสร้างหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว 9 ข้อ
โดยนายวสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร
1. ตรวจสอบสิ่งของที่ร่วงหล่นได้ ตรวจสอบการร่วงหล่นของสิ่งของรอบอาคารเพื่อตรวจสอบว่าของที่ยึดกับตัวอาคาร เช่น เครื่องปรับอากาศ กระถางต้นไม้ วัสดุอาคาร มีการหลุดร่วงหรือไม่
2. ลิฟต์ ตรวจสอบโดยการให้ลิฟต์วิ่งขึ้นลงจากล่างสุดถึงบนสุดเพื่อตรวจว่ามีการติดขัดหรือมีความสั่นสะเทือนผิดปกติหรือไม่
3. ท่อน้ำ ตรวจสอบในช่องท่อน้ำแนวดิ่ง อันได้แก่ ท่อน้ำประปา ท่อน้ำระบบปรับอากาศ เพื่อตรวจว่ามีท่อแตกรั่วซึมหรือไม่
4. ท่อก๊าซหุงต้ม ตรวจสอบที่ตั้งถังก๊าซและตลอดแนวท่อก๊าซ เพื่อตรวจว่ามีการรั่วซึม หรือ มีกลิ่นก๊าซหุงต้มหรือไม่
5. สายไฟฟ้าและตัวนำไฟฟ้าแนวดิ่ง ตรวจสอบในห้องไฟฟ้าประจำชั้นเพื่อตรวจว่ามีการลัดวงจร มีกลิ่นไหม้ มีความร้อน หรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่ กรณี อาคารที่ใช้บัสดักแทนสายไฟให้ตรวจความเสียหายของอุปกรณ์ทั้งหมดเพราะหากอาคารเลือกใช้บัสดัก (Busduct) ที่ไม่รองรับแผ่นดินไหว อาจจะทำให้ฉนวนของบัสดัก (Busduct) เสียหายและเมื่อใช้อาจจะระเบิดได้
6. ท่อระบายความร้อน (Cooling Tower) และถังเก็บน้ำดาดฟ้า ตรวจสอบความเสียหาย ความมั่นคงแข็งแรงเพื่อตรวจสอบว่ามีการแตกร้าว น้ำรั่ว ยึดติดมั่นคงแข็งแรงอยู่กับฐานหรือไม่
7. ตรวจสอบระบบดับเพลิง ท่อน้ำดับเพลิง สปริงเกอร์ วาวล์ควบคุมการจ่ายน้ำ ต้องอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง
8. กรณีอาคารที่กำลังปรับปรุงอาคาร กำลังก่อสร้าง และมีงาน hot work จะต้องตรวจสอบการรั่วไหลของก๊าซในอาคารและความพร้อมของระบบป้องกันเพลิงไหม้ก่อนทำงาน
9. อาคารขนาดใหญ่และอาคารสูง ควรได้รับการตรวจสอบอาคารโดยผู้ตรวจสอบอาคารหรือผู้มีความรู้ด้านงานตรวจสอบอาคารก่อนใช้งานอาคาร