ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบผลการวาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัลเทียบกับพื้นที่ปลูกจริง ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค และอำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งทางเกษตรเขต 2 ได้ทำการเลือกตรวจสอบแปลงพืช พืชละ 10 แปลง/1 จังหวัด รวมจังหวัดละ 40 แปลง (4 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะพร้าว มันสำปะหลังโรงงาน และพืชที่มีจำนวนเกษตรกรขึ้นทะเบียนมากที่สุดในพื้นที่แปลงเกษตรขึ้นทะเบียนใหม่หรือปรับปรุงในปี 2568)
ในการนี้นายประสาน ปานคง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินงานโครงการทะเบียนเกษตรกรและบริหารจัดการสารสนเทศการเกษตรด้านพืช โดยยึดถือระเบียบในการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดความถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
ซึ่งโครงการดังกล่าวจะนำข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบและประมวลผลมาจัดพิมพ์ลงในสมุดทะเบียนเกษตรกรเพื่อยืนยันตัวตนเกษตรกร และใช้ประกอบในการเข้าร่วมโครงการหรือมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ดังนั้น การแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรเป็นประจำทุกปี ข้อมูลจะมีความครบถ้วน เป็นปัจจุบันทำให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตรนำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรเชื่อมโยงกับข้อมูลจากหน่วยงานภาคี เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบโครงการและมาตรการเพื่อให้การสนับสนุน และช่วยเหลือเกษตรกรเป็นจำนวนมาก เช่น
- การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช
- โครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
- โครงการส่งเสริมปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง
- โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี
- โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว
- โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
- โครงการประกันรายได้ พืชเศรษฐกิจ (ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์)
กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ให้เป็น Digital DOAE โดยการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรแจ้งข้อมูลการปรับปรุงกิจกรรมการเกษตรตามข้อเท็จจริงด้วยตนเองผ่าน e-Form และ Mobile Application มีการร่วมบูรณาการใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความสะดวกของเกษตรกรและยังสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งบริหารจัดการและบำรุงรักษาฐานข้อมูลหลัก และระบบที่เกี่ยวข้อง สำหรับให้บริการบันทึกข้อมูลและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อให้ทะเบียนเกษตรกรมีข้อมูลที่ครบถ้วน นำไปสู่การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตรจัดทำสารสนเทศด้านการเกษตรในภาพรวมของประเทศ สามารถนำไปเผยแพร่บูรณาการใช้ประโยชน์ได้ทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นข้อมูลประกอบโครงการและมาตรการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี