แพทย์เตือนระวังโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว มฤตยูร้ายตัวจริงของผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด สาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลก

พุธ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๐๐๗ ๑๑:๐๘
กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
แพทย์เตือนระวังโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว สาเหตุหลักของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก รวมถึงโรคหัวใจตายเฉียบพลัน หรือการเกิดภาวะ Heart Attack และอัมพฤกษ์-อัมพาต ชี้ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากคอเลสเตอรอลตัวร้าย LDL ในเลือดสูง ระบุวิถีชีวิตคนกรุงเสี่ยงสูง เหตุพฤติกรรมการกินเปลี่ยนไปในทาง “หวานขึ้น-มันขึ้น” แนะลดคอเลสเตอรอลตัวร้าย LDL ให้อยู่ในเกณฑ์ตามเป้าหมาย (Get to Goal) เพื่อลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
จากงานเสวนา “ความหวังใหม่ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง” โดยมี รศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หัวหน้าห้องสวนหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และ รศ.นพ.ชาญ ศรีรัตนสถาวร ศูนย์หัวใจสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โรงพยาบาลศิริราช ร่วมด้วย “พ่อ-ลูกคนดัง” คุณชลิต — คุณวรฤทธิ์ เฟื่องอารมณ์ เป็นผู้ร่วมเสวนา ณ โรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล
รศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis) ฟังดูคนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยนัก แต่เป็นโรคที่พบบ่อยและมีมานานแล้ว โดยโรคหลอดเลือดแดงแข็งนี้ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคร้ายชนิด ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลก และถือเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุการตายทั้งหมดของประชากรโลก หรืออาจจะพูดได้ว่า ทุกๆ 2 วินาที มีผู้เสียชีวิตจาก “โรคหัวใจและหลอดเลือด” รวมถึงโรคหลอดเลือดแดงแข็งยังเป็นสาเหตุของ “โรคหัวใจตายเฉียบพลัน หรือภาวะ Heart Attack” โรคที่คร่าชีวิตประชากรโลกทุกๆ 5 วินาที นอกจากนี้ โรคหลอดเลือดแดงแข็งยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจาก “โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน” ต้นเหตุของการเกิดภาวะอัมพฤกษ์-อัมพาต ซึ่งทุกๆ 6 วินาที จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 1 คน สำหรับในประเทศไทย จากสถิติในปี 2548 พบว่า มีผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดในหัวใจอุดตันปีละ 60,000 คน และผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตปีละ 100,000 คน
รศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อก่อนวงการแพทย์ถือว่าเหล่านี้เป็นคนละโรคและรักษาต่างกัน หากเป็นอัมพาตก็ไปพบหมอสมอง และเป็นหัวใจก็ไปพบหมอหัวใจ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการศึกษามากขึ้น วงการแพทย์ตะหนักว่าโรคเหล่านี้เป็นโรคเดียวกันคือ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง เพราะเกิดจากสาเหตุเดียวกัน และมีวิธีการป้องกันที่เหมือนกัน โดยโรคหลอดเลือดแดงแข็งนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย โดยเกิดขึ้นตั้งแต่ยังเด็กและพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงซึ่งมีอยู่ทั่วร่างกายของคนเรา โดยหลอดเลือดแดงเหล่านี้เมื่อใช้ไปนานๆจะเกิดการสะสมของตะกรันขึ้นที่หลอดเลือดแดง แต่ตะกรันเหล่านี้จะยังไม่เป็นอันตราย จนกระทั่งการสะสมของตะกรันหนาขึ้นเรื่อยๆและเกิดการปริ หรือกะเทาะของตะกรันเหล่านี้ และกระตุ้นให้เกิดเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันผนังหลอดเลือด หากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นนั้นไปอุดตันผนังหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจก็จะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือ Heart Attack และหากลิ่มเลือดนั้นไปอุดตันหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองก็จะทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์-อัมพาต
รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หัวหน้าห้องสวนหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเสริมว่า ภาวะโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวเป็นภาวะเริ่มต้นของโรคที่ร้ายแรงอย่างเช่นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และอัมพฤกษ์อัมพาต โดยสาเหตุหลักของสถิติที่น่ากลัวข้างต้น มีจุดเริ่มต้นมาจากโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งในปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่จะก่อให้เกิดภาวะโรคหลอดเลือดแข็งตัว ทั้งนี้เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมในการบริโภคและออกกำลังกายที่แตกต่างกัน ทำให้คนในทุกวัยมีโอกาสที่จะเกิดภาวะโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวได้ทั้งสิ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มคนที่มีคอเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) สูง, อายุมากกว่า 45 ปี, เป็นเพศชาย , มีความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ หรือเครียด เป็นต้น
“ปัจจุบันคนไทยเรา มีพฤติกรรมการกินที่ปลี่ยนไป อยู่ดีกินดีขึ้น ชอบกินของหวานๆมันๆมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมการกินนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาวะคอเลสเตอรอลตัวร้าย แอลดีแอล (LDL) ในเลือดสูงโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ และคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ พบกว่าเกินครึ่ง หรือกว่า 50% มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคนี้จะเป็นในคนมีอันจะกิน หรือผู้ที่มีเศรษฐานะร่ำรวยมากกว่า โดยอาการเริ่มแรกของผู้ที่อาจจะเกิดภาวะโรคเส้นเลือดแดงแข็งตัว ได้แก่ เจ็บหน้าอก เจ็บแขนซ้ายหรือกราม อึดอัด หายใจไม่ออก อ่อนเพลีย เหงื่อออกง่าย หรือเวียนศีรษะ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ในระหว่างการ-ออกกำลังกาย เป็นต้น”
รศ.นพ.สรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่ามาตรฐานของคอเลสเตอรอลตัวร้าย แอลดีแอล (LDL) ในคนทั่วไป ไม่ควรจะเกิน 130 mg/dL แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกๆ คน ควรจะคำนึงถึงมี 3 ข้อ ได้แก่ 1) ทุกๆ คนมีตัวเลขของตนเองต่างกัน (Person Behind the Numbers) หมายถึงตัวเลขของไขมันประเภทต่างๆ ซึ่งมีผลทำให้แต่ละคนมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวที่ต่างกัน 2.) Reaching Goal คือการลดคอเลสเตอรอลชนิดร้ายให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ภายในระยะเวลาที่จำกัด 3.) หากไม่สามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ภายในระยะเวลาที่จำกัดได้ จะก่อให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และ/หรือ อาการอัมพฤกษ์อัมพาต” รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หัวหน้าห้องสวนหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าว
รศ.นพ.ชาญ ศรีรัตนสถาวร ศูนย์หัวใจสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึงวิธีการป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว ว่า การลดแอลดีแอล (LDL) คอเลสเตอรอลให้ตามเป้าหมาย (Get to Goal) เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากจะสามารถช่วยลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และอัมพฤกษ์-อัมพาตได้ ทำได้โดยควบคุมพฤติกรรมดำเนินชีวิต ควบคุมพฤติกรรมการกิน กล่าวคือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง, หวานจัด มีรสเค็ม และเน้นการทางอาหารที่มีเส้นใย งดสูบบุหรี่ และที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วันๆ ละครึ่ง - 1 ชั่วโมง แต่ไม่จะเป็นต้องหักโหม และบางรายอาจจำเป็นต้องรับประทานยาลดไขมันในเส้นเลือดร่วมด้วย เพื่อให้การลดแอลดีแอล (LDL) คอเลสเตอรอลให้ได้ตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งผู้ป่วยจะต้องพบแพทย์เป็นประจำ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
โดยเมื่อเร็วๆนี้ มีผลการวิจัยทางการแพทย์ที่มีชื่อว่า ASTEROID (A Study To Evaluate the Effect of Rosuvastatin On Intravascular Ultrasound-Derived Coronary Atheroma Burden) ระบุว่ายาลดไขมันในกลุ่มสเตตินตัวล่าสุด สามารถลดตะกรันในหลอดเลือดหัวใจได้อย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว โดยผลวิจัยทางการแพทย์ ASTEROID ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายาลดไขมันในเส้นเลือดดังกล่าว สามารถลดตะกรันซึ่งเกิดจากคอเลสเตอรอลชนิดร้าย หรือ แอลดีแอลในหลอดเลือดแดงได้ถึง 7-9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะไปสะสมบริเวณผนังหลอดเลือดทำให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบ และอุดตันในที่สุด นอกจากนี้ยาดังกล่าวยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดร้ายได้ถึง 53 เปอร์เซ็นต์ และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีหรือ เอชดีแอล ได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในร่างกายของเราจะมีหลอดเลือดแดงที่สำคัญอยู่ 2 จุด คือหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง และหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งหากเกิดการอุดตันก็จะเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และอาการอัมพฤกษ์อัมพาต ตามลำดับ จึงนับเป็นความหวังใหม่ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วโลก
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ จำกัด
คุณบุษบา สุขบัติ และคุณพิธิมา รัตนรังสิกุล
โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133 / 112
E-Mail : [email protected]
[email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๙ ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๑๗:๕๑ GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๑๗:๒๗ กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๑๗:๑๔ กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๑๗:๒๕ First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๑๗:๐๒ CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๑๗:๑๑ บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๑๗:๕๒ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๑๗:๐๑ รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๑๗:๔๓ กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว