พบคนกรุงเทพฯโคเลสเตอรอลสูงเกินครึ่ง แพทย์แนะตรวจไขมันในเลือดทุกปี ช่วยลดการตายจากโรคหัวใจ

จันทร์ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๔ ๑๔:๔๗
กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
นาวาอากาศเอก นพ.บรรหาร กออนันตกูล ประธานโครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" ได้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หรือโรคหัวใจในก่อนวัยอันควรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบได้ในทุกระดับอาชีพ ต่างกับเมื่อก่อนที่ส่วนใหญ่มักจะพบในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีฐานะดี สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกโภชนาการมาตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเฉพาะจากกระแสนิยมการรับประทานอาหารประเภทฟาสฟู้ด และไม่เข้าใจเรื่องโคเลสเตอรอล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและนำไปสู่การเกิดโรคร้ายเหล่านี้
"โรคหัวใจขาดเลือดเป็นโรคที่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ เพราะทางการแพทย์ได้ศึกษาถึงสาเหตุ ตลอดจนแนวทางป้องกันที่มีประสิทธิภาพและเข้าใจถึงภยันตรายของโรคนี้ว่าเกิดจากปัจจัยอะไร ฉะนั้นต้องมีความตั้งใจจริงในการงดและควบคุมปัจจัยเสี่ยงนั้นๆให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดและการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดตลอดจนอัมพฤกษ์-อัมพาตลงได้" นพ.บรรหาร กล่าวและเสริมว่า
นอกจากโคเลสเตอรอลแล้ว ก็ยังมีไขมันชนิดอื่นที่ควรหลีกเลี่ยงด้วย แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า ควรหลีกเลี่ยงเฉพาะอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงหรือไขมันที่มาจากสัตว์เท่านั้น อันที่จริงแล้วยังมีอาหารบางชนิดที่ไม่มีโคเลสเตอรอลเลยแต่ไขมันชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและไตรกลีเซอไรด์ก็ทำให้ไขมันในเลือดสูงได้เช่นกัน เช่น อาหารที่ให้ไขมันอิ่มตัวสูงและไม่มีส่วนผสมที่มาจากสัตว์ จำพวกน้ำมันปาล์มดิบ กะทิ ทุเรียน ครีมเทียม หรืออาหารที่ให้แป้งและน้ำตาลมาก น้ำหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หรือแม้แต่อาหารที่ระบุฉลากข้างกล่องว่าปราศจากโคเลสเตอรอลก็ต้องระมัดระวังด้วย
นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ กรรมการโครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" กล่าวว่า ภาวะไขมันสูงหรือโคเลสเตอรอลสูงในเลือด เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เพราะผู้ที่มีโคเลสเตอรอลสูงในเลือดเป็นเวลานานๆ จะเกิดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดหัวใจและเกิดภาวะอุดตันในเส้นเลือดหัวใจตามมา ซึ่งการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดแดงนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยการศึกษาในต่างประเทศพบว่า เริ่มสะสมตั้งแต่ 5 - 8 ปี และการสะสมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็วตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะอายุช่วง 20 - 30 ปี ปริมาณของไขมันจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงเป็นตัวเร่ง เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันมากๆ โรคอ้วน ปริมาณไขมันในร่างกาย ขาดการออกกำลังกาย และความดันโลหิตสูง
"การสะสมไขมันในผนังหลอดเลือดระยะแรกจะไม่แสดงอาการ จะเริ่มมีอาการเมื่อการสะสมนั้นมากพอที่จะทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบไปมากกว่า 70% แล้ว ซึ่งอันตรายมาก บางคนเริ่มมีอาการครั้งแรกก็รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หรือผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการแต่เสียชีวิตเลยก็มี ฉะนั้นเราจะต้องตรวจเลือดเนื่องจากเป็นวิธีเดียวที่จะทราบว่าโคเลสเตอรอลในเลือดเราสูงหรือไม่ และควรตรวจซ้ำทุกปีเพื่อป้องกันแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯและผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มของผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงมากขึ้นทุกปี โดยจากการสำรวจสุขภาพของคนไทยล่าสุดพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและในจังหวัดใหญ่ๆ มีระดับโคเลสเตอลสูงกว่าค่าที่แนะนำในปัจจุบัน คือ 200 มล./ดล. อยู่มากกว่าครึ่ง และเฉพาะในคนกรุงเทพฯพบมากกว่า 60%" นพ.ระพีพล กล่าว และเสริมว่า
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดมีหลายปัจจัย บางอย่างไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ เช่น พันธุกรรม เพศ และอายุที่มากขึ้น โดยผู้ชายจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าผู้หญิง และผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปีในเพศชาย อายุมากกว่า 55 ปีในเพศหญิงก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้น แต่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่สามารถป้องกันหรือแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เช่น การงดสูบบุหรี่ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และที่สำคัญต้องควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง น้ำหนักตัว และระดับโคเลสเตอรอลสูงในเลือดให้อยู่เกณฑ์ที่เหมาะสม
"มีหลักฐานทางการแพทย์พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ถ้าเราสามารถลดระดับโคเลสเตอรอลลงได้ 1% จะสามารถลดอัตราเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดลงได้ถึง 2% จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด และ ถ้าพบว่าสูงก็ต้องลด โดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และบางรายแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาลดไขมันร่วมด้วย เพื่อช่วยป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน" นพ.ระพีพล กล่าว
โครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 โดยความร่วมมือของแพทย์โรคหัวใจ แพทย์เบาหวาน แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา นักโภชนาการ บุคลากรการแพทย์ และบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้สนับสนุนโครงการฯ เพื่อร่วมรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับโคเลสเตอรอล และแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดให้แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป ปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกแล้วมากกว่า 25,000 คน
หากสนใจสมัครเป็นสมาชิกโครงการฯ พร้อมรับเอกสารน่ารู้เกี่ยวกับโคเลสเตอรอล ฟรี ที่ตู้ ปณ. 1114 ปณฝ.นานา กรุงเทพฯ 10112 แฟกซ์ 0-2651 9649 www.HeartAndCholesterol.com
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : คุณบุษบา สุขบัติ
พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
โทร. 0-2651-8989 ต่อ 222 แฟกซ์ 0-2651-9649
E-mail: [email protected]จบ--
-รก-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕:๒๓ ผลงานวิจัยใหม่พบ ไข่ ลดความเสี่ยงกระดูกพรุน
๑๕:๕๔ ทีทีบีไดรฟ์ ตอกย้ำการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งกับเกรท วอลล์ มอเตอร์ ค่ายรถยนต์ xEV ชั้นนำสัญชาติจีน เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมนำเสนอแนวโน้มธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ไทย ใน 2024 GWM GLOBAL
๑๕:๐๘ Dua Lipa (ดูอา ลิปา) กลับมาพร้อมอัลบั้มใหม่ Radical Optimism ผลงานเพลงที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทางความคิดและทัศนคติของเธอ
๑๕:๕๔ จิม ทอมป์สัน ส่ง Lookbook มัดรวม Summer Essentials สุดปัง ชวนสายแฟสาดลุคฉ่ำรับซัมเมอร์กับหลากไอเทมฮอตที่ต้องมีติดตู้
๑๕:๐๔ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ส่งแคมเปญเงินฝากรับซัมเมอร์ เน้นความมั่นคงตรงใจ พร้อมผลตอบแทนสูงกับ โปรแกรมบัญชีเงินฝากประจำพิเศษ 3 เดือน ดอกเบี้ย 3.50%
๑๕:๒๘ BCPG ลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายป่าชายเลนฯ มุ่งสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างยั่งยืน
๑๕:๔๔ Taiwan Excellence โชว์เคสนวัตกรรมสีเขียว ในมหกรรมสถาปนิก' 67 ส่งเสริมความก้าวหน้าของเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๔:๑๔ SPREME ดันผลงานปี 67 โตแรง Double Digit ลุยประมูลงานขนาดใหญ่ภาครัฐในโครงการมากกว่าพันลบ.- เร่งปิดดีล MA
๑๔:๒๑ Casa Rocca, MicroFiber และ Pasaya ร่วมชูวิสัยทัศน์การออกแบบอาคาร ที่อยู่อาศัย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในงานสถาปนิก
๑๔:๒๕ Green Market At Hua-Hin