PwC เผยความกังวลระบบอัตโนมัติแย่งงานพบมากที่สุดในกลุ่มคนที่ได้รับโอกาสในการยกระดับทักษะแรงงานน้อย

จันทร์ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๕:๓๔
- มากกว่า 1 ใน 3 (34%) ของแรงงานที่ไม่ได้รับการศึกษาหลังจากจบระดับมัธยม หรือไม่ได้รับการฝึกอบรมกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับการเรียนรู้ทักษะทางด้านดิจิทัลใหม่ ๆ เปรียบเทียบกับผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับวิทยาลัยที่ 17%

- 53% ของแรงงานเชื่อว่า ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบของงานอย่างมีนัยสำคัญ หรือทำให้งานที่ทำอยู่ล้าสมัยภายใน 10 ปีข้างหน้า (มีเพียง 28% ที่รู้สึกว่า ไม่น่าเป็นเช่นนั้น)

- 77% ของผู้ใหญ่ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ หรือฝึกฝนทักษะที่มีอยู่เพื่อปรับปรุงทักษะของตนเองให้มีความพร้อมต่อการจ้างงานในอนาคต

PwC เผยผลสำรวจพบแรงงานที่ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ น้อยกว่ามีความกังวลต่อผลกระทบจากการเข้ามาของระบบอัตโนมัติมากที่สุด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่า สวนทางกับแรงงานคนรุ่นใหม่และผู้สำเร็จการศึกษาที่มองว่า การเข้ามาของดิจิทัลจะทำให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านทักษะและโอกาสในการจ้างงานใหม่ ๆ แนะรัฐส่งเสริมการยกระดับทักษะแรงงานในทุกส่วนงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานในตลาดให้สามารถแข่งขันได้

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Upskilling Hopes and Fears ของ PwC ที่ทำการสำรวจแรงงานมากกว่า 22,000 รายใน 11 ประเทศทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการเข้ามาของระบบอัตโนมัติต่อรูปแบบของงานและทักษะในอนาคต

ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า 53% ของแรงงานที่ถูกสำรวจเชื่อว่า ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบของงานอย่างมีนัยสำคัญ หรือทำให้งานที่ทำอยู่ล้าสมัยภายใน 10 ปีข้างหน้า (มีเพียง 28% เท่านั้นที่รู้สึกว่า ไม่น่าเป็นเช่นนั้น) ในขณะที่ผู้ถูกสำรวจส่วนใหญ่ หรือ 61% มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อการทำงานประจำวัน และ 77% ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ หรือฝึกฝนทักษะที่มีอยู่เพื่อปรับปรุงทักษะของตนเองให้มีความพร้อมต่อการจ้างงานในอนาคต อย่างไรก็ดี โอกาสและทัศนคติเกี่ยวกับประเด็นนี้มีความแตกต่างกันไปอย่างมีนัยสำคัญตามระดับการศึกษา ภูมิศาสตร์ เพศ และอายุของแต่ละคน

ผลกระทบของการศึกษา

รายงานของ PwC พบว่า ผู้ถูกสำรวจที่จบการศึกษาระดับปริญญาเป็นกลุ่มคนที่มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการจ้างงานในอนาคตมากที่สุด แม้จะเชื่อว่า งานของพวกเขาที่ทำอยู่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรืออาจถูกแทนที่

ในทางตรงกันข้าม มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 34% ของแรงงานที่ไม่ได้รับการศึกษาหลังจากจบระดับมัธยม หรือไม่ได้รับการฝึกอบรมนอกหลักสูตรกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับการเรียนรู้ทักษะทางด้านดิจิทัลใหม่ ๆ เปรียบเทียบกับบัณฑิตที่จบการศึกษาในระดับวิทยาลัยที่ 17% โดยแรงงานที่ไม่ได้รับการศึกษาหรือการฝึกอบรมหลังจากจบระดับมัธยมศึกษากลุ่มนี้ ยังมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับการฝึกอบรมจากนายจ้างเช่นกัน (38% ไม่ได้รับโอกาสเปรียบเทียบกับ 20% ของพนักงานที่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา) และพวกเขายังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่องานมากกว่า โดย 17% แสดงความกังวลหรือความกลัว

นาย ริชาร์ด โอลด์ฟิลด์ หัวหน้าสายงาน Global Markets ของ PwC กล่าวว่า:

"ความไม่ตรงกันระหว่างทักษะที่คนมีกับทักษะที่เป็นที่ต้องการสำหรับโลกดิจิทัล กำลังกลายเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เติบโตรวดเร็วที่สุดของโลก เพราะในขณะที่เทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะสร้างงานได้พอ ๆ กับแทนที่ เทคโนโลยีในแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันไปและคนก็จำเป็นต้องมีทักษะเพื่อปรับตัวด้วย ความต้องการในการเรียนรู้ของคนในวันนี้มีมาก แต่โอกาสที่แต่ละคนได้รับนั้นไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งความไม่เท่าเทียมนี้ จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และภาคธุรกิจ"

ความแตกต่างทางด้านประชากรศาสตร์

รายงานพบว่า ผู้ชายมีมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีต่องานในอนาคตของพวกเขามากกว่าผู้หญิง พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ มากกว่า (80% ของผู้ชายที่ถูกสำรวจกล่าวว่า พวกเขากำลังทำเช่นนั้น เปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ 74%)

ในทำนองเดียวกัน กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปีมีมุมมองในเชิงบวกเกี่ยวกับอนาคตของดิจิทัลมากกว่ากลุ่มคนในวัยอื่น นอกจากนี้ พวกเขายังได้รับโอกาสในการฝึกอบรมมากกว่าด้วย เช่น 69% ของกลุ่มคนที่มีอายุระว่าง 18-34 ปีมีความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับผลกระทบในอนาคตของเทคโนโลยีที่มีต่องานของพวกเขา เปรียบเทียบกับ 59% ของกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 35-54 ปี และ 50% ของผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป มีเพียง 18% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปีเท่านั้นที่กล่าวว่า ไม่ได้รับโอกาสในการได้เรียนรู้ทักษะทางด้านดิจิทัลใหม่ ๆ จากนายจ้าง เปรียบเทียบกับคนที่มีอายุระหว่าง 35-54 ปีที่ 29% และผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปที่ 38% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ความเห็นเกี่ยวกับทักษะที่ต้องการเรียนรู้ของคนยังแตกต่างกันด้วย โดยในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน มีคนที่ต้องการมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเฉพาะด้าน และในขณะเดียวกัน ก็มีคนที่ต้องการพัฒนาการเรียนรู้ของตนให้ดีขึ้นและสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีประเภทต่าง ๆ ได้

นางสาว แครอล สตับบิงส์ หัวหน้าร่วม สายงาน Global People & Organisation ของ PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า:

"ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ แต่พวกเขาจำเป็นต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของการทำงานอย่างไร และจะมีประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างไร ดังนั้น การยกระดับทักษะ คือการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และนี่คือสิ่งที่หลาย ๆ องค์กรกำลังเผชิญอยู่ บ่อยครั้งที่มีการตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับประเภทของแรงงานที่ควรได้รับการยกระดับทักษะ และสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นคือการที่มีคนหนึ่งคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ในขณะที่คนต้องเผชิญกับชีวิตการทำงานที่ยาวนานขึ้น การยกระดับทักษะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลจะสามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเป็นจำนวนล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปีก็ตาม"

เปรียบเทียบแรงงานในแต่ละประเทศ

เมื่อพิจารณาตลาดต่าง ๆ ที่ทำการสำรวจพบว่า แรงงานในสาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดียเป็นกลุ่มคนที่มีมุมมองเชิงบวกต่อผลกระทบของเทคโนโลยีมากที่สุด และแม้จะเชื่อว่างานของพวกเขาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญมากก็ตาม แรงงานในภูมิภาคเหล่านี้ยังได้รับโอกาสในการยกระดับทักษะจากนายจ้างมากกว่าที่ 97% และ 95% ตามลำดับ ในทางกลับกันแรงงานในสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียกล่าวว่า พวกเขาได้รับโอกาสน้อยที่สุดในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และมีมุมมองเชิงบวกต่อผลกระทบของเทคโนโลยีน้อยกว่า

แต่ไม่ว่าแรงงานจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทหรือในเมือง ทุกคนต่างก็มีทัศนคติต่อผลกระทบของเทคโนโลยี โดย 67% ของแรงงานที่อาศัยอยู่ในเมืองเชื่อว่า แนวโน้มของงานจะปรับตัวดีขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยี (เปรียบเทียบกับ 48% ในพื้นที่ชนบท) และ 80% ได้รับโอกาสในการยกระดับทักษะจากนายจ้าง เปรียบเทียบกับ 60% ของแรงงานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท

นาย ริชาร์ด โอลด์ฟิลด์ หัวหน้าสายงาน Global Markets ของ PwC กล่าวเสริมว่า:

"ผลวิจัยของเราช่วยทำให้เห็นถึงช่องว่างของโอกาสในการปรับตัวเข้าสู่โลกในยุคระบบอัตโนมัติ โดยผู้ที่ร่วมทำผลสำรวจของเราส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดิจิทัลมากกว่า ซึ่งยังเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของประชากรโดยรวมได้เด่นชัดกว่าด้วย"

ทั้งนี้ ผลสำรวจถูกจัดทำบนพื้นฐานของงานวิจัยของ PwC ที่พบว่า 30% ของงานจะตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเข้ามาของระบบอัตโนมัติในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 2030 จากการวิเคราะห์ใน 29 ประเทศ และในขณะเดียวกัน ผลสำรวจซีอีโอประจำปี 2019 ของ PwC ก็ชี้ว่า ความพร้อมของทักษะนั้นเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับซีอีโอมากที่สุดที่ 79%

นางสาว วิไลพร กล่าวสรุปว่า:

" วันนี้การเข้ามาของระบบอัตโนมัติ เอไอ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้เริ่มส่งผลต่อรูปแบบการทำงานและแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะยิ่งเห็นความต้องการทักษะในรูปแบบใหม่ ๆ มีมากขึ้นไปอีก ฉะนั้น เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่สำคัญทั้งในระดับชาติ และ ระดับผู้บริหาร สิ่งหนึ่งที่ PwC ต้องการที่จะผลักดันคือ การยกระดับทักษะให้กับแรงงาน ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนของเรานอกเหนือจากการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี โดยเราพยายามที่จะยกระดับทักษะทางด้านดิจิทัลของพนักงานให้เท่าเทียมกันในทุกระดับเพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะเดียวกัน อยากให้ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หันมาส่งเสริมการยกระดับทักษะให้แก่แรงงานโดยรวมของประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่แรงงานไทย และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติที่กำลังมุ่งไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest