กระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเวทีเสวนากิจการดาวเทียมในยุค Disruption และธุรกิจรูปแบบใหม่ฯ

ศุกร์ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๔:๐๘
กระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเวทีเสวนากิจการดาวเทียมในยุค Disruption และธุรกิจรูปแบบใหม่ สอดรับนโยบายให้ดาวเทียมต่างชาติเข้าตลาดไทยได้ หวังกระตุ้นการลงทุน รองรับธุรกิจในอนาคต ด้านบริษัทผู้ให้บริการประกันภัยดาวเทียมระดับโลก มั่นใจนโยบายนี้ช่วยหนุนจีดีพีประเทศขยายตัว จากการเพิ่มโอกาสคนในชนบทเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทั่วถึง

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยภายหลังการประชุม เรื่อง กิจการดาวเทียมในยุค Disruption และธุรกิจรูปแบบใหม่ (The Changing Environment of Satellite Industry: Disruption and New Business Model) ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้กิจการดาวเทียมยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสร้างบริการและโอกาสธุรกิจใหม่ๆ จากเดิมที่บริการส่วนใหญ่มาจากดาวเทียมที่มีวงโคจรประจำ (Geostationary Satellite Orbit: GSO) ในปัจจุบัน แนวโน้มของโลกมุ่งไปสู่การลงทุนในบริการที่เกิดจากดาวเทียมแบบวงโคจรไม่ประจำที่ (Non-Geostationary Satellite Orbit: NGSO) เช่น ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) และดาวเทียมวงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit: MEO) ที่มีขนาดเล็กและสามารถส่งขึ้นไปบนฟ้าได้ครั้งละหลายพันดวง ดาวเทียมเหล่านี้สามารถให้บริการได้หลากหลาย เช่น การส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การส่งผ่านข้อมูลความเร็วสูง การส่งสัญญาณโทรทัศน์ด้วยเทคโนโลยีภาพที่คมชัดมากขึ้น รวมถึงการสำรวจ การนำทาง และการถ่ายภาพที่มีความชัดเจนในระดับสูงมาก

"ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ดาวเทียม NGSO สามารถให้บริการส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตและข้อมูลแบบความเร็วสูง (Low Latency) ซึ่งทำให้ภาคพื้นดินสามารถรับสัญญาณได้ในเวลาต่ำกว่าเสี้ยววินาที การรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วในระดับที่ไม่มีดาวเทียมสมัยก่อนทำได้ ดาวเทียม NGSO จึงเป็นเครื่องมือทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องใช้การรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด อาทิ ยานยนต์ไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) การส่งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในที่ทุรกันดารเพื่อให้คนที่อยู่นอกเมืองเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโดรนสำรวจในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เป็นต้น"

ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลเตรียมพร้อมรับแนวโน้มใหม่นี้ และล่าสุดคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ผ่านความเห็นชอบ (ร่าง) แนวทางการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit : GSO) ตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบ เพื่อมุ่งเน้นให้ประเทศไทยมีนโยบายที่กำหนดแนวทางในการรักษาตำแหน่งวงโคจรและข่ายงานดาวเทียมของประเทศที่ชัดเจน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 60 ที่กำหนดให้ รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน

และเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ (Landing Right) เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายอนุญาตให้ใช้งานดาวเทียมต่างชาติในเชิงพาณิชย์ ในขณะที่ผู้ประกอบการและผู้ใช้งานดาวเทียมสื่อสารมีความต้องการใช้งานดาวเทียมต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้คือ รอนำเสนอเข้า ครม. และรับมติมาดำเนินการต่อโดยออกเป็นประกาศหรือเป็นนโยบาย

"ดาวเทียมไทยคมที่จะหมดอายุในเดือนกันยายน 2564 เราต้องมีนโยบายต่อไปว่าจะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไร เพราะเราต้องคำนึงถึงลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่เตรียมการไว้อาจประสบปัญหาไม่ได้รับการบริการ จึงต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 2 ส่วน คือ เรื่องทรัพย์สินจากสัมปทานที่สิ้นสุดลงและโอนมาเป็นของกระทรวงฯ ต้องมีการดำเนินการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาให้บริการต่อ โดยอาจเป็นในรูปแบบของ PPP ขณะที่ในส่วนของรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจร และพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ ต้องเข้าสู่กระบวนการขอใบอนุญาตให้บริการจาก กสทช. โดยเป็นไปตามกฎเกณฑ์ กสทช. ทุกอย่าง"

ด้านนาย Jan Schmidt หัวหน้ากลุ่มธุรกิจอวกาศ บริษัท Swiss Re Corporate Solutions จำกัด กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่าปัจจุบันยังมีคนอีก 3.5 พันล้านคนทั่วโลก ที่ยังไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ขณะที่มีการประมาณการณ์ว่า ถ้าประเทศใดสามารถทำให้ประชากรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น 10% จะสร้างการเติบโตให้กับจีดีพีของประเทศอีก 1.5%

"นโยบายเปิดเสรีตลาดดาวเทียมของประเทศไทยมีความสำคัญกับประเทศ เพราะโครงสร้างพื้นฐานด้านดาวเทียม เป็นสิ่งที่จะช่วยให้คนทั่วทุกส่วนของประเทศที่สายไฟเบอร์ออฟติกเข้าไม่ถึง สามารถเชื่อมต่อกับทั้งโลกด้วยอินเทอร์เน็ต เข้าถึงการศึกษา การเกษตรเชิงพยากรณ์ บริการสาธารณสุข และโอกาสทางธุรกิจ เป็นต้น อีกทั้งกฎหมายที่เปิดกว้าง จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย และเร่งความเร็วในการบรรลุนโยบายไทยแลนด์ 4.0"

รองศาสตราจารย์สุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกำกับกิจการพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับประเด็นเรื่องนโยบายความถี่ (Spectrum) ที่ประเทศใหญ่ๆ ของโลกอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป เริ่มมีการกำหนดนโยบายเพื่อรองรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5G ที่จะเป็นตัวขับดันเศรษฐกิจของโลกในอนาคตอันใกล้

นายศมาธร เทียนกิ่งแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด สนับสนุนนโยบายเปิดเสรีตลาดดาวเทียมของรัฐบาล แต่ควรมีเงื่อนไขที่ต้องไม่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเพียงผู้ซื้อเทคโนโลยี และมองแนวโน้ม 2-3 ปีข้างหน้าว่า จะมีดาวเทียมวงโคจรระยะปานกลาง (MEO) จากต่างประเทศเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการในไทยก็อาจเข้าไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้สร้างดาวเทียม หรือผู้ให้บริการจากต่างชาติ เพื่อดูแลบริการตลาดประเทศไทย

นายภาคย์ บุญยุบล หัวหน้าส่วนงานวิศวกรรมดาวเทียมและปฏิบัติการ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจให้บริการดาวเทียมเผชิญแรงกดดันจากเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ดังนั้นแม้ปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในไทย ก็ยังต้องเริ่มมองถึงการขยายธุรกิจนอกเหนือไปจากธุรกิจหลักเดิม อีกทั้งเพื่อรองรับสัมปทานที่จะสิ้นสุดลงในปี 2564

สำหรับเวทีเสวนาเรื่องอนาคตกิจการดาวเทียมในยุค Disruption และธุรกิจรูปแบบใหม่ ได้จัดขึ้น ณ ห้องประชุม MDES ชั้น 9 กระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งมีผู้ร่วมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เรื่องกิจการดาวเทียม รวมถึงการ Disruption และธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในโลกยุคใหม่ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์สุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกำกับกิจการพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพันธ์พงษ์ ขำอ่อน รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานสถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล โดยมีวิทยาการร่วมเสวนา ได้แก่ นาวาอากาศเอกฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ นายภาคย์ บุญยุบล หัวหน้าส่วนงานวิศวกรรมดาวเทียมและปฏิบัติการ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) นายศมาธร เทียนกิ่งแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest