แสนสิริ เผยผลวิจัย ตลาดอาคารสูงยังรุ่ง"อพาร์ตเมนต์" ตัวชูโรงมั่นคงสุด

จันทร์ ๐๕ มีนาคม ๒๐๐๑ ๑๓:๕๐
กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--แสนสิริ
ฝ่ายวิจัยแสนสิริสำรวจตลาดอาคารสูงช่วงที่ผ่านมาพบว่าตลาดอพาร์ตเมนต์และอาคารสำนักงานยังมีแนวโน้มสดใส ดูจากความต้องการที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะที่คอนโดมิเนียมและห้างสรรพสินค้ายังทรงตัวไม่ต่างจากช่วงที่ผ่านมาสรุปผลวิจัยชี้ชัดภาพรวมตลาดไม่น่าห่วง
นางสาววิรานี ปัจจักขภัติ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โดยภาพรวมของตลาดคอนโดมิเนียมยังคงทรงตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวน Supply ในตลาดมีการขยายตัวค่อนข้างต่ำโดยมีห้องชุดใหม่จากโครงการที่สร้างแล้วเสร็จเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งหลังปี 2543 ทั้งสิ้น 870 ยูนิต จาก 3 โครงการ ทำให้จำนวน Supply รวมในพื้นที่หลักของเขตกรุงเทพมหานคร เพิ่มขึ้น 80,724 ยูนิต จาก 417 โครงการ โดย 20% ของจำนวน Supply รวมอยู่ในเขตถนนศรีนครินทร์ และในจำนวนนี้เป็นห้องชุดที่เหลือขายในตลาดทั้งสิ้น 3,860 ยูนิต หากไม่รวมยูนิตที่หยุดการก่อสร้าง ซึ่งลดลงจากประมาณ 4,200 ยูนิต ในเดือนมิถุนายน 2543 ผลวิจัยยังชี้ชัดอีกว่า ย่านพหลโยธินเป็นย่านที่มีจำนวนห้องชุดเหลือมากที่สุดประมาณ 1,728 ยูนิต ในขณะที่ย่านพญาไทมีจำนวนห้องชุดเหลืออยู่น้อยที่สุดประมาณ 162 ยูนิต ทั้งนี้ ประมาณ 500 ยูนิต จากจำนวนยูนิตเหลือขายทั้งหมดเป็นยูนิตที่เจ้าของโครงการนำออกให้เช่าแทนที่จะขาย เนื่องจากการปล่อยเช่าสามารถสร้างรายได้ในระยะยาวให้แก่เจ้าของโครงการได้ดีกว่าขายขาดในบางพื้นที่ เช่น สุขุมวิท และ CBD นอกจากนั้นยังคงมีห้องชุดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีแผนที่จะสร้างเสร็จภายในปี 2544 จำนวน 520 ยูนิต จาก 5 โครงการ ทั้งนี้ 174 จาก 520 ยูนิตใหม่นี้จะอยู่บนถนนศรีนครินทร์ ซึ่งจากการสำรวจไม่พบโครงการที่เริ่มการก่อสร้างใหม่ และมีแผนที่จะสร้างแล้วเสร็จหลังจากช่วงปี 2544 แต่อย่างใด
ด้านปริมาณการขายในช่วงครึ่งหลังของปี 2543 ลดลงถึง 24% จากช่วงครึ่งแรกสืบเนื่องมาจากการขาดแคลนห้องชุดที่มีคุณภาพดีในตลาด โดย 6 พื้นที่หลักของกรุงเทพมหานครสามารถขายห้องชุดได้ทั้งสิ้น 675 ยูนิต เมื่อเทียบกับ 886 ยูนิตในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งนี้การขายโดยผ่านวิธีการประมูลมีส่วนช่วยได้เป็นอย่างดี จากการสำรวจพบว่า 100 ยูนิต จาก 3โครงการ ถูกขายผ่านวิธีการประมูลในช่วงครึ่งหลังของปี 2543 ทั้งนี้ ย่านสุขุมวิทยังคงเป็นย่านที่มีความต้องการห้องชุดสูงที่สุด ด้วยยอดขายสูงสุดหลายช่วงติดต่อกัน โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2543 สามารถขายได้ทั้งสิ้น 218 ยูนิต ทำให้ยอดขายลดลงประมาณ 28% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก และ 32 จาก 218 ยูนิตเป็นการขายผ่านการประมูล นอกจากนี้ในเขตพหลโยธิน และพระราม 3 มียอดขายประมาณ 150 และ 111 ยูนิต ในขณะที่พื้นที่ CBD ย่านเพลินจิต และสาทร มียอดขาย 79 และ 88 ยูนิต
ทั้งนี้ ราคาห้องชุดในช่วงครึ่งหลังของปี 2543 ค่อนข้างทรงตัว โดยย่านที่มีราคาเฉลี่ยสูงสุดยังคงเป็นเขต CBD เฉลี่ยที่ 52,645 บาทต่อตารางเมตร โครงการส่วนมากในเขต CBD เสนอขายอยู่ที่ประมาณ 48,000 - 68,000 บาทต่อตารางเมตร ในขณะที่โครงการซึ่งขาดการดูแลที่ดีเท่านั้นที่ราคาของห้องชุดที่ขายผ่านการประมูลจะมีราคาต่ำกว่าการขายแบบปกติมาก ส่วนในย่านสุขุมวิท ราคาขายเพิ่มขึ้น 6% โดยอยู่ที่ 40,242 บาทต่อตารางเมตรและราคาต่ำสุด - สูงสุดพบที่ 23,800 และ 58,727 บาทต่อตารางเมตร ทั้งนี้เนื่องจากยูนิตที่เสนอส่วนลด 50% ได้หมดจากตลาดไปแล้ว
จากการสำรวจพบว่า แนวโน้มของตลาดคอนโดมิเนียมยังคงทรงตัวในระดับปัจจุบัน ตลาดยังต้องการห้องชุดพักอาศัยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการขาดแคลนห้องชุดที่มีคุณภาพดีอาจมีผลทำให้ผู้ซื้อชะลอการซื้อทำให้ปริมาณการขายของตลาดลดลงในช่วงต่อไป และคาดว่าราคาจะทรงตัว ณ ราคาปัจจุบัน
ตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์
ภาพรวมของตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2543 ได้ปรับตัวดีขึ้นอีก ทั้งๆที่มี Supply ใหม่เพิ่มเข้ามาถึง 593 ยูนิต จาก 4 โครงการ หรือประมาณ 6% ส่วนอัตราการครอบครองก็ยังทรงตัวอยู่ที่ 71% เท่ากับช่วงครึ่งปีแรก และนับว่าเป็นการทรงตัวในระยะที่สามจากการเปรียบเทียบทุกๆ หกเดือน ปัจจุบันมีจำนวนเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์หลักๆ ในเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด 9,090 ยูนิต จากจำนวนโครงการทั้งสิ้น 79 โครงการ สุขุมวิทยังคงเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และเป็นเขตเดียวที่มีการเพิ่มขึ้นของอัตราการครอบครองอีก 4% จาก 79% ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2543 ขึ้นไปเฉลี่ยที่ระดับ 83% ในจำนวนนี้โครงการเกรดเอจะมีความสามารถในการทำตลาดได้ดีกว่าโครงการที่มีคุณภาพและการบริหารงานต่ำกว่า โดยมีอัตราการครอบครองเฉลี่ยที่ 88% ขณะที่โครงการที่มีคุณภาพต่ำกว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 77% เมื่อเทียบกับเขต CBD ที่นับว่าเป็นเขตพื้นที่หลักเช่นกัน อัตราการครอบครองเฉลี่ยจะอยู่ที่ 72% ลดลง 1% จากช่วงครึ่งปีแรก และเช่นกันในจำนวนนี้นับเป็นอัตราการครอบครองของโครงการเกรดเอ 77% ในขณะที่เกรดต่ำกว่าทำได้อยู่ที่ 60% สำหรับอัตราค่าเช่านั้น พบว่ามีการขึ้นลงน้อยมากเช่นเดิมคือไม่เกิน 10% โดยที่โครงการเกรดเอในเขตสุขุมวิทมีค่าเช่าเฉลี่ยที่ 843 บาทต่อตารางเมตร ลดลงจาก 903 บาทในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากโครงการที่เปิดตัวใหม่เสนอราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาก แต่อย่างไรก็ตามครึ่งหนึ่งของโครงการเกรดเอทั้งหมดนี้สามารถขึ้นค่าเช่าได้ ในขณะที่อัตราการครอบครองก็เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับโครงการเกรดต่ำกว่ามีค่าเช่าเฉลี่ยที่ 445 บาท ลดลง 1% จาก 440 บาท และนับว่ายังต่ำกว่าค่าเช่าของโครงการเกรดเออยู่ถึงเกือบ 50% ส่วนในเขต CBD นั้น อัตราค่าเช่าของทั้งโครงการเกรดเอและเกรดต่ำกว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 1-2% โดยเฉลี่ยที่ 814 และ 602 บาทต่อตารางเมตร
แนวโน้มของตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในปี 2544 นี้ คาดว่าจะยังคงปรับตัวในทางบวกต่อไป เนื่องจากจะมี Supply ใหม่เพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% ซึ่งทำให้อัตราการครอบครองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่สถานการณ์ของอัตราค่าเช่าค่อนข้างที่จะมั่นคง คือขึ้นลงไม่เกิน 5% เช่นเดิม
ตลาดอพาร์ตเมนต์
อพาร์ตเมนต์นับเป็นตลาดที่มีความมั่นคงที่สุด เมื่อเทียบกับตลาดอาคารสูงรูปแบบอื่นๆ โดยช่วงครึ่งปีหลังของ 2543 นั้น มีจำนวนยูนิตใหม่เข้าสู่ตลาดทั้งสิ้น 167 ยูนิต จาก 4 โครงการใหม่ คิดเป็นอัตราการขยายตัวของ Supply ประมาณ 4% จากช่วงครึ่งแรกของปี และทำให้ ณ เดือนธันวาคม 2543 จำนวนอพาร์ตเมนต์ในพื้นที่หลักๆ ในเขตกรุงเทพมหานครมีทั้งหมด 10,006 ยูนิต จาก 345 โครงการ โดยที่ประมาณ 71% ของจำนวนอพาร์ตเมนต์ทั้งหมดนี้อยู่ในเขตสุขุมวิท ทั้งนี้ สุขุมวิท 55 ยังคงเป็นซอยที่มีจำนวนอพาร์ตเมนต์ตั้งอยู่มากที่สุดในเขตถนนสุขุมวิท นอกจากนี้ยังคงมียูนิตที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและมีแผนการที่จะเข้าสู่ตลาดภายในปี 2545 ประมาณ 340 ยูนิต จาก 12 โครงการ โดยประมาณ 127 ยูนิต จาก 5 โครงการคาดว่าจะเข้าสู่ตลาดราวช่วงครึ่งแรกของปี 2544 และที่เหลืออีก 163 ยูนิต จาก 6 โครงการ จะเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ประมาณ 290 จาก 340 ยูนิตใหม่นี้จะอยู่บนถนนสุขุมวิททั้งสิ้น โดยที่เหลืออีก 50 ยูนิต จาก 2 โครงการจะอยู่ในเขต CBD
ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2543 ตลาดอพาร์ตเมนต์มีการเติบโตขึ้นมาก ด้วยอัตราการครอบครองที่เพิ่มขึ้นถึง 7% มาอยู่ที่เฉลี่ย 91% เทียบกับ 84% ในเดือนมิถุนายน 2543 โดยที่ย่านสุขุมวิทยังคงเป็นย่านที่มีความนิยมสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการครอบครองสูงสุดถึง 91% เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดือนมิถุนายน 2543 ในขณะที่มีจำนวน Supply มากที่สุด ทั้งนี้ ห้องประเภทสามห้องนอนจะเป็นที่นิยมมากที่สุดในเขตสุขุมวิท ส่วนในเขต CBD ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่หลักเช่นกัน ก็มีอัตราการครอบครองอยู่ในระดับสูงที่ 88% เพิ่มขึ้นจาก 83% ในช่วงเดือนมิถุนายน โดยที่ห้องประเภทสองห้องนอนก็ยังคงเป็นที่นิยมมากกว่าประเภทอื่นๆ นอกจากนั้น อัตราการครอบครองในเขตพหลโยธิน และถนนนางลิ้นจี่ ก็เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนมิถุนายน 2543 เช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจาก 55% เป็น 68% ในเขตพหลโยธิน และจาก 80% เป็น 85% ในเขตนางลิ้นจี่
อัตราค่าเช่าเฉลี่ยต่อเดือนต่อตารางเมตรของทั้งตึกเก่าและตึกที่ดูแลดีในสุขุมวิท ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเดือนมิถุนายน 2543 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 215 และ 286 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ตามลำดับ ขณะที่ในพื้นที่ CBD ค่าเช่าเฉลี่ยต่อเดือนของทั้งตึกเก่าและตึกที่ดูแลดีมีการปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 3% และ 1% จากช่วงเดือนมิถุนายน 2543 ตามลำดับ ซึ่งเฉลี่ยปรับตัวจาก 222 บาท และ 324 บาท ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ 229 บาท และ 327 บาทในเดือนธันวาคม ตามลำดับ ส่วนในเขตถนนนางลิ้นจี่ และ พหลโยธิน ค่าเช่ายังคงปรับตัวลดลงประมาณ 1% และ 2% โดยมาอยู่ที่ 340 และ 255 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ตามลำดับ
แนวโน้มในอนาคตของธุรกิจอพาร์ตเมนต์ยังคงความสดใสอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าปริมาณความต้องการห้องพักจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยที่จะมีจำนวนห้องพักใหม่เข้าสู่ตลาดในจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากภาวะการแข่งขันของตลาดในย่านสุขุมวิท คาดว่าจะส่งผลให้อัตราการครอบครองเฉลี่ยและค่าเช่าเฉลี่ยในเขตนี้จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอัตราเฉลี่ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2543 มากนัก
ตลาดอาคารสำนักงาน
ภาพรวมของตลาดอาคารสำนักงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2543 ปรับตัวดีขึ้นอีก Supply ใหม่เข้ามาในตลาดน้อยมาก ซึ่งพบว่าต่ำที่สุดในระยะสิบปีที่ผ่านมา คือมีเพียง 5,000 ตารางเมตรเท่านั้น ซึ่งทำให้อัตราการครอบครองในเขตกรุงเทพมหานครในช่วงดังกล่าว ขยับเพิ่มขึ้นอีก 3% อยู่ที่เฉลี่ย 67%นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งที่สามในระยะเวลาเปรียบเทียบทุกๆ หกเดือน โดยปัจจุบันมีพื้นที่อาคารสำนักงานทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครรวมทั้งสิ้น 6.461 ล้านตารางเมตร จากจำนวนโครงการทั้งหมด 321 โครงการ ในจำนวนนี้ ประมาณว่าเป็นพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ครอบครองประมาณ 2.17 ล้านตารางเมตร ซึ่งนับว่าลดลงติดต่อกันเรื่อยมาอีก 6%
ในช่วงครึ่งปีหลัง 2543 นี้ ประมาณว่ามีพื้นที่ซึ่งถูกครอบครองเพิ่มขึ้นอีก 138,000 ตารางเมตร ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับจำนวนที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก การขยายตัวของธุรกิจทางด้าน IT ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้เพิ่มขึ้น พื้นที่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นเขต CBD โดยเฉพาะพื้นที่ในอาคารเกรดเอบนช่วงถนนสีลมและสาทร ที่มีการลดค่าเช่าอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเพียง 1-2% ก็สามารถดึงดูดผู้เช่าได้เพิ่มขึ้น 4% โดยมีอัตราการครอบครองเฉลี่ยที่ 68% และมีค่าเช่าเฉลี่ยที่ 379 บาทต่อตารางเมตร และปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกถึงแนวโน้มที่เป็นบวกอีกอย่างหนึ่งคือความสามารถในการทำตลาดของอาคารเกรดเอบนช่วงถนนเพลินจิตวิทยุ คือในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ค่าเช่าของอาคารเหล่านี้เริ่มคงที่ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 393 บาท หลังจากที่ลดลงติดต่อกันตั้งแต่กลางปี 2540 โดยในขณะเดียวกันอัตราการครอบครองก็เพิ่มขึ้นอีก 2% อยู่ที่ 63% สำหรับอาคารเกรดบีนั้น มีค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 291 บาท และอัตราการครอบครองเฉลี่ยที่ 70% บนช่วงถนนสีลมสาทร สำหรับช่วงถนนเพลินจิตวิทยุนั้น มีค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 358 บาท พบว่าลดลงมากที่สุดที่ 5% โดยที่อัตราการครอบครองเฉลี่ยที่ 56% เท่ากับช่วงครึ่งปีแรก
สำหรับตัวเลขบริษัทที่จดทะเบียนเพิ่มขึ้นจากกระทรวงพาณิชย์นั้น พบว่าปี 2543 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 17% โดยมีจำนวนรวม 15,011 บริษัท ซึ่งเพิ่มจาก 12,842 ในปี 2542 สำหรับตัวเลขบริษัทปิดกิจการ ถึงแม้จะเพิ่มขึ้น แต่ก็มีเพียง 2% จาก 4,211 ในปี 2542 เป็น 4,315 ในปี 2543
แนวโน้มของตลาดในส่วนนี้ คาดว่าจะมีการปรับตัวในทางบวกเช่นกัน Supply ที่จะเข้ามาในตลาดใหม่ภายในสองปีข้างหน้านี้ลดน้อยลงมาก ซึ่งมีเพียง 164,000 ตารางเมตรเท่านั้น ในขณะที่มีการคาดการว่าจะมีจำนวนบริษัทเปิดใหม่เพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตามพื้นที่ว่างซึ่งยังมีอยู่ถึงสองล้านตารางเมตรจะทำให้อัตราค่าเช่าลดลงอย่างต่อเนื่องอีกประมาณไม่เกิน 5%
ตลาดศูนย์การค้า
สภาพรวมของตลาดศูนย์การค้าถือว่ายังคงทรงตัวอยู่ในทิศทางบวก ถึงแม้ว่าอัตราการครอบครองพื้นที่เฉลี่ยจะลดลงร้อยละ 2 อยู่ที่ร้อยละ 87 เทียบกับครึ่งปีแรกของ 2543 ซึ่งเป็นผลมาจาก อัตราค่าเช่าพื้นที่เฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 8 คือจาก 1,063 บาท/ตารางเมตร อยู่ที่ 1,143 บาท/ตารางเมตร ปัจจุบันในเขตกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ศูนย์การค้าทั้งหมด 3.712 ล้านตาราเมตร ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ตัวเลขอุปทานที่เพิ่มเข้ามาในตลาดได้มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2542 เป็นต้นมา ซึ่งอุปทานส่วนที่เพิ่มเข้ามาโดยมากจะเป็นพื้นที่ขายในรูปแบบของ Discount Store ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ขายแบบธรรมดายังจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2000 มีแต่โครงการที่เป็นประเภท Discount Store เข้ามาสู่ตลาดถึง 4 โครงการ คือ คาร์ฟูพระรามสี่ โลตัสหลักสี่ บิ๊กซีหัวหมาก และบิ๊กซีสมุทรปราการ รวมพื้นที่ที่เข้ามาเพิ่มโดยประมาณได้ 65,000 ตารางเมตร
ถึงแม้ว่าอัตราการครอบครองพื้นที่โดยเฉลี่ยจะลดลง แต่ในส่วนของโครงการหลักๆยังคงรักษาระดับการครอบครองพื้นที่ได้ดังเดิมหรืออาจมากขึ้นกว่าเดิมด้วย ในขณะที่โครงการรายย่อยจะถูกโจมตีอย่างรุนแรงโดย Discount Store ที่กำลังมีการแข่งขันกันสูงมาก การค้าในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น ผู้คนนิยมจับจ่ายใช้สอยในที่ที่มีสินค้าหลากหลาย เพื่อช่วยในการประหยัดเวลา สอดคล้องกับโลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน ถ้าจำแนกศูนย์การค้าออกเป็นประเภทนั้นพบว่าทุกประเภทของศูนย์การค้าต่างก็เผชิญกับอัตราการครอบครองพื้นที่ที่ต่ำลง ร้อยละ 2-5 เทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2000 โดยที่ Specialty Store คือแบบเดียวที่ยังรักษาระดับไว้ได้เท่าเดิมคือร้อยละ 88
อัตราค่าเช่าโดยทั่วไปต่ำลงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ ร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2000 มีเพียงสองพื้นที่เท่านั้นที่ปรับราคาค่าเช่าขึ้นไปอยู่สูงกว่าเดิมค่อนข้างคือ ราชดำริ และ สุขุมวิท ซึ่งอยู่ที่ 1,262 และ 1,353 บาทต่อตารางเมตรตามลำดับ เนื่องจากเป็นแหล่งการค้าย่านใจกลางเมืองและยังได้รับผลกระทบทางบวกจากรถไฟฟ้าอีกด้วย แต่ถ้าแบ่งตามประเภทของโครงการแล้ว อัตราค่าเช่าถูกปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในทุกรูปแบบของศูนย์การค้า
จากการศึกษาโครงการศูนย์การค้าต่างๆ ประมาณ 20 โครงการที่ตั้งอยู่ในขอบเขตของสถานีรถไฟฟ้านั้นพบว่า รถไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นให้ตลาดมีความคึกคักมากขึ้น ซึ่งศูนย์การค้าในย่านใจกลางเมืองนั้นสามารถที่จะปรับราคาค่าเช่าให้เพิ่มสูงมากขึ้นถึงร้อยละ 35 โดยเฉลี่ย แต่ในทางตรงกันข้าม ศูนย์การค้าที่มีการใช้พื้นที่ร่วมกับสำนักงานหรือที่อยู่อาศัยนั้น ผลบวกของรถไฟฟ้ายังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร
Discount Store
ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2543 ได้มีโครงการประเภท Discount Store เข้ามาสู่ตลาด 4 โครงการ ทำให้พื้นที่รวมของตลาด Discount Store เพิ่มสูงขึ้นถึง 537,796 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 39 โครงการทั่วทั้งเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล การเพิ่มเข้ามาของโครงการ Discount Store ใหม่ๆ จะเริ่มลดลง แต่กระนั้นก็ยังจะทำให้มีจำนวนโครงการเพิ่มสูงขึ้นอีกเป็น 45 โครงการ (631,796 ตารางเมตร) ในสิ้นปี 2545
แนวโน้มของตลาดในอนาคตจะปรับตัวไปในทางบวกมากขึ้น สำหรับศูนย์การค้าแบบครบวงจรอุปทานที่จะเพิ่มเข้ามาในตลาดยังอยู่ในอัตราที่สูง โครงการในแบบของ Discount Store จะเริ่มเข้ามาสู่ตลาดน้อยลง สภาวะตลาดจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากชีวิตประจำวันของผู้บริโภคที่เร่งรีบมากขึ้น ดังนั้นการค้าแบบ One-stop Shopping จะมีบทบาทค่อนข้างมาก โดยรวมแล้ว อัตราค่าเช่าเฉลี่ยของศูนย์การค้าโดยทั่วไปจะอยู่ในระดับที่ต่ำลงเล็กน้อยเพื่อรักษาระดับการครอบครองพื้นที่ไม่ให้ต่ำลงมากกว่าเดิม
ภาพรวมของตลาดศูนย์การค้าถือว่ายังคงทรงตัวอยู่ในทิศทางบวก ถึงแม้ว่าอัตราการครอบครองพื้นที่เฉลี่ยจะลดลงร้อยละ 2 อยู่ที่ร้อยละ 87 เทียบกับครึ่งปีแรกของ 2543 ซึ่งเป็นผลมาจาก อัตราค่าเช่าพื้นที่เฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 8 คือจาก 1,063 บาท/ตารางเมตร มาอยู่ที่ 1,143 บาท/ตารางเมตรปัจจุบัน ในเขตกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ศูนย์การค้าทั้งหมด 3.712 ล้านตาราเมตร ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ตัวเลขอุปทานที่เพิ่มเข้ามาในตลาดได้มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2542 เป็นต้นมา ซึ่งอุปทานส่วนที่เพิ่มเข้ามาโดยมากจะเป็นพื้นที่ขายในรูปแบบของ Discount Store ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ขายแบบธรรมดายังจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ
จากการศึกษาโครงการศูนย์การค้าต่างๆประมาณ 20 โครงการ ที่ตั้งอยู่ในขอบเขตของสถานีรถไฟฟ้านั้นพบว่า รถไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นให้ตลาดมีความคึกคักมากขึ้น ซึ่งศูนย์การค้าในย่านใจกลางเมืองนั้นสามารถที่จะปรับราคาค่าเช่าให้เพิ่มสูงมากขึ้นถึงร้อยละ 35 โดยเฉลี่ย แต่ในทางตรงกันข้าม ศูนย์การค้าที่มีการใช้พื้นที่ร่วมกับสำนักงานหรือที่อยู่อาศัยนั้น ผลบวกของรถไฟฟ้ายังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่วิภาวริศ เกตุปมา เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์อาวุโสบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)โทรศัพท์ 201-3328 โทรสาร 201-3904E-mail address: [email protected] จบ--
-สส-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๐ ฉลอง Pride Month นิปปอนเพนต์ องค์กรสีแห่งความเท่าเทียม เตรียมร่วมขบวนพาเหรดสีรุ้งสุดยิ่งใหญ่ ในงาน Thailand's Pride Celebration 2024 Rhythm of Pride
๑๖:๑๖ สาวๆ ชอบใส่ส้นสูงมาบริหารกล้ามเนื้อกันค่ะ
๑๖:๕๘ อิ่มสุขทุกวันอังคาร กับบาร์บีคิวบุฟเฟ่ต์ดินเนอร์ริมทะเล ณ ห้องอาหารร็อคส์ โรงแรมเคปนิทรา หัวหิน
๑๖:๑๗ วช. ตอบโจทย์สังคมสูงวัย ยกรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 67 ให้ เครื่องคัดกรองผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์เครื่องคัดกรองผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์
๑๖:๑๓ ศรีพันวาเปิดบ้านต้อนรับการกลับมาของภูเก็ต World Class Tourist Destination ตอกย้ำความเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน มุมมองแนวโน้มกองทรัสต์ SRIPANWA
๑๖:๓๔ Double A Fastprint เพิ่มจุดบริการใหม่ในร้านสะดวกซัก SABUY WASH
๑๖:๒๐ บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป ชวน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดสวนวิ่ง มะหมาราธอน งานวิ่งสุดโฮ่ง ส่งต่อโอกาสเพื่อเพื่อนสี่ขา
๑๖:๔๕ มรภ.สงขลา ยกระดับผลิตกาแฟตามมาตรฐานสินค้าเกษตร หนุนเกษตรกร ต.ทุ่งลาน เพิ่มประสิทธิภาพแปรรูปกาแฟโรบัสต้า
๑๖:๔๙ ททท. แท็กทีม ทราเวลโลก้า ประกาศความร่วมมือ (MOA) ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ครอบคลุมกลยุทธ์การตลาดและประชาสัมพันธ์
๑๖:๓๒ หมดกังวลผมร่วง! วช. นำเทคโนโลยีพลาสมาเย็น PlasOne ฟื้นฟูเส้นผม รวดเร็ว ปลอดภัย คว้ารางวัลเหรียญทอง สวิส