ก.ไอซีที แก้ปัญหาผลกระทบด้านสังคมจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

อังคาร ๐๙ กันยายน ๒๐๐๘ ๑๕:๑๒
กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--ก.ไอซีที
นางสาวลัดดา แจ้งเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบทางด้านสังคมอันเกิดจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ได้กำหนดให้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญข้อหนึ่งคือ “เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อวางนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง” ดังนั้น นอกจากการพัฒนาและส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว คณะกรรมการฯ ยังมีหน้าที่ต้องแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องด้วย โดยผลกระทบต่อสังคมที่เกิดจากความก้าวหน้าของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่คณะกรรมการฯ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่ศึกษาให้ชัดเจนและหามาตรการแก้ไข จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของสังคมในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบทางด้านสังคมอันเกิดจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสนอแนะมาตรการ วิธีการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กกทรอนิกส์ต่อสังคมที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีในทางไม่เหมาะสม โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการศึกษาผลกระทบทางด้านสังคมที่เกิดจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นรูปแบบของการทำธุรกิจหรือการติดต่อสื่อสารรูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน พบว่า กลโกงออนไลน์ในปัจจุบันมีรูปแบบที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน และถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และถือว่าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมอย่างชัดเจน ไม่ว่าในแง่ความปลอดภัยในทรัพย์สินของบุคคลทั่วไป หรือความเชื่อมั่นของสังคมต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเด็นที่เป็นผลกระทบทางสังคม (Social Impact) คือ ผลกระทบในด้านการใช้งานที่ไม่เหมาะสม การฉ้อโกง การละเมิด และการขาดการรับรู้ถึงการใช้ประโยชน์ของระบบและเครื่องมือต่าง ๆ “ผลกระทบที่เกิดจากการใช้งานที่ไม่เหมาะสมนั้น อาจมีสาเหตุมาจากการขาดความรู้ ความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือรู้ไม่เท่าทันกลโกง จึงทำให้เกิดปัญหาในหลาย ๆ เรื่องทั้งการถูกหลอก การใช้ ICT อย่างไม่มีจริยธรรม การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรม โดยใช้วิธีการก่อกวน ทำลายข้อมูลด้วยไวรัส (virus) วอร์ม (worm) โทรจัน (Trojan Horse) รวมถึงการปล่อยข่าวหลอกลวงต่างๆ และการขาดระบบควบคุมการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ส่วนผลกระทบจากการฉ้อโกงนั้นได้ทำให้เกิดปัญหาการหลอกลวงเพิ่มมากขึ้น ทั้งในการจัดจำหน่าย จัดส่งสินค้า และชำระเงินผ่านทางเว็บไซต์ หรือโดเมนปลอมของบริษัทให้บริการซื้อ-ขายผ่านอินเทอร์เน็ตที่สร้างขึ้นเลียนแบบ รวมทั้งผ่านทางการส่งอีเมล์หลอกล่อด้วยรางวัลเพื่อให้กรอกข้อมูลส่วนตัวที่ใช้ระบุตัวตนของบุคคล โดยวิธีการที่ใช้นั้นจะมีทั้ง e-mail marketing การฟิชชิ่ง (Phishing) การสแกมทางคอมพิวเตอร์ (Computer-related Scams) การถอดรหัสโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น สำหรับผลกระทบด้านการละเมิดนั้นมีทั้งการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีผลให้เกิดการเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกขโมยความลับทางการค้า ซึ่งปัจจุบันได้มีการขายข้อมูลบัตรเครดิตให้กับผู้อื่น หรือการกำหนดให้กรอกหมายเลขบัตรเครดิตเมื่อใช้บริการสั่งซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการกำหนดแบบฟอร์มของการใช้บริการผ่านเว็บไซต์ที่ต้องกรอกรายละเอียดส่วนตัว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้หากตกอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดีก็อาจใช้วิธีการส่งอีเมล์หลอกลวง หรือใช้แอบอ้างตัวเพื่อไปก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ได้” นางสาวลัดดา กล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาผลกระทบในด้านต่าง ๆ คณะอนุกรรมการฯ จึงได้กำหนดแผนการดำเนินงานส่งเสริมการพัฒนา ป้องกัน และแก้ไขปัญหาทางสังคมอันเกิดจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเน้นปัญหาที่รุนแรง และต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนก่อน รวมทั้งการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นพันธมิตรในการพัฒนาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการส่งเสริมให้สังคมสร้างมาตรฐาน คุณธรรม จริยธรรมในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ “แนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ได้มีการหารือกันนั้น จะมีทั้งการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจโดยเน้นประเด็นจริยธรรม การวางระบบโครงสร้างความรู้ การทำให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงความรู้ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันเพื่อแก้ปัญหาการขาดการรับรู้ถึงการใช้ประโยชน์ของระบบและเครื่องมือต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังได้กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาผลกระทบด้านอื่น ๆ อาทิ การป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมของเด็ก การป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ การหลีกเลี่ยง สแปมเมล การสร้างความรู้แก่ผู้ใช้บริการไม่ให้ส่งข้อมูลส่วนบุคคลในข้อความอีเมล์ทั่วไป ไม่คลิกเชื่อมโยงในข้อความที่น่าสงสัย หรือเลือกใช้บริการเฉพาะเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและตรวจสอบ URL เว็บไซต์จริงที่จะลิงค์ไปให้ถูกต้อง เป็นต้น” นางสาวลัดดา กล่าวเพิ่มเติม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗ พ.ค. สุรีย์พร คลินิก เปิดตัวตึกสูงที่สุดแห่งวงการคลินิกสถาบันเสริมความงาม ฉลอง 20 ปีความสำเร็จพร้อมยกระดับชูเทคโนโลยีล้ำสมัย Volformer
๑๗ พ.ค. ปตท.สผ. จัดงานประชุม SSHE Forum 2024 ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน
๑๗ พ.ค. บมจ. เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) แนะนำ ชุดล็อคประตูกลอนแม่เหล็กไฟฟ้า จากแบรนด์ HIP
๑๗ พ.ค. ซัมซุง อัปเกรดประสบการณ์การชมทุกมหกรรมกีฬา ด้วยนวัตกรรม AI TV สุดล้ำ ชัดทุกแมตซ์เหมือนเชียร์ติดขอบสนาม
๑๗ พ.ค. ไทยพาณิชย์ปักหมุดผู้นำดิจิทัลแบงก์ นำ AI เสริมแกร่ง 360 องศา เปิด 3 นวัตกรรม AI ครั้งแรก! สร้างปรากฏการณ์ใหม่กลุ่มสินเชื่อรายย่อย และ Digital
๑๗ พ.ค. หัวใจเต้นช้า โรคหัวใจที่มักถูกมองข้าม
๑๗ พ.ค. DDD โชว์งบ Q1/67 กวาดกำไรทะยาน 317% YoY พร้อมลุยขยายตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ อัพผลงานปีนี้โตสวย
๑๗ พ.ค. PCC เปิดงบ Q1/67 รายได้โต 14.25% ยอดขายสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า - อุปกรณ์ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพิ่มขึ้น มั่นใจรายได้ปีนี้โต 10%
๑๗ พ.ค. บางจากฯ สานต่อพันธกิจสนับสนุนด้านกีฬาอย่างเป็นมิตรต่อโลก ร่วมจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง Olympic Day 2024 Together, For A Better
๑๗ พ.ค. บัตรเครดิต ttb ช้อปคุ้ม อิ่มครบ ได้มากกว่า รับ Magic Gift Voucher รวมมูลค่าสูงสุด 1,500 บาท ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั้ง 5