ความแตกต่างของ Covid 19 กับไข้หวัดใหญ่ มีความใกล้เคียงกัน คือคนไข้จะมีอาการ มีไข้ ไอ คัดจมูก เจ็บคอ คล้ายๆกัน แต่ถ้ามีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส อันนี้น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยง Covid 19 ถ้าเกิดมีไข้สูงตั้งแต่วันแรกเลย หรือ ว่าปวดเนื้อ ปวดตัว อาจจะมีแนวโน้ม ไปทางไข้หวัดใหญ่ ระยะฟักตัวของ ไข้หวัดใหญ่ จะสั้นกว่า Covid 19 ตั้งแต่เรารับเชื้อเข้ามาจนถึงแสดงอาการ ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ 2-3 วัน รู้แล้ว แต่ถ้าเป็น Covid 19 ใช้ระยะ 5-6 วัน ถึงจะแสดงอาการ อาการของกลุ่มคนไข้หนัก ในโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีปัญหาที่ระบบจะอยู่ที่ทางเดินหายใจเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นเชื้อ Covid 19 จะส่งผลในหลายระบบ เพราะว่าเชื้อนี้ถ้ามีอาการรุนแรงจะทำลายเส้นเลือดของเราให้เกิดการอักเสบ และเกิดลิ้มเลือดในหลอดเลือดได้ เพราะฉะนั้นคนไข้บางคนอาจจะมีอาการหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองตีบ ก็เป็นได้
โรค Covid 19 ประมาณ 80% ของคนติดเชื้อจะแสดงอาการน้อย หรือว่าไม่มีอาการเลยก็ได้ โรคนี้กว่าจะแสดงอาการคือเชื้อจะอยู่ในตัวเราแล้ว 5-6 วัน นับตั้งแต่วันที่เราได้รับเชื้อ จนกระทั้ง 1 อาทิตย์แรก ผู้ป่วยรับเชื้ออาจจะรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองเป็นหวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่จริง ๆแล้ว หลังจากรับเชื้อประมาณ 5-7 วัน เชื้อจะลงปอดด้วยความรวดเร็ว นำพามาสู่ปัญหาปอดติดเชื้อ ในหลายเคสอาจจะอาการยังดี แต่อาจแย่ลงอย่างรวดเร็ว เรียกว่า 3 วัน อันตราย ถ้าคนไข้อยู่ในความดูแล ของหมอ หมอจะดูในวันที่ 5,6,7 ว่ามีอาการปอดติดเชื้อหรือเปล่า
คนที่ติดเชื้อแต่หายไปเองมีหรือไม่ ก็เป็นไปได้ เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า 80% ของผู้ติดเชื้อมีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ ถ้าผู้ติดเชื้อไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองมีความเสี่ยงก็อาจจะไม่ได้ไปตรวจ แต่จะเป็นผู้แพร่เชื้อ(Super spreader)ให้แก่คนอื่นได้
ติด Covid 19 รักษาหายปอดจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความหนักเบา ถ้ามีอาการปอดติดเชื้อเล็กน้อยไม่มีอะไร ตรงนี้สามารถกลับมาเป็นปกติได้ แต่อาจจะใช้ระยะเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แล้วแต่ความหนักเบา แต่ถ้าถึงขั้นการหายใจล้มเหลว สภาพปอดถูกทำลายไปเยอะแล้ว ก็อาจจะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้
กลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงที่สุดของการติดเชื้อ Covid 19 ได้แก่ อันดับแรกเลยคือผู้สูงอายุ เราจะนับที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวาน เพราะคนไข้ที่มีโรคCovid และเบาหวานร่วมด้วยจะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าโรคอื่นๆ โรคประจำตัวอื่นๆ ที่น่าเป็นห่วงก็จะพวกโรคเรื้อรัง โรคปอด โรคหัวใจ ไต ตับ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงภาวะอ้วนด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
พญ.พิมฑิราภ์ สุจริตวงศานนท์
ศูนย์ทางการแพทย์ อายุรกรรม โรคทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์