บ๊อช ยืนหยัดด้วยจุดแข็งด้านผู้นำทางเทคโนโลยี

วางกลยุทธ์ปี พ.ศ. 2537 มุ่งมั่นก้าวสู่เป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้น

Friday 9 May 2025 11:48
บ๊อช ยืนหยัดด้วยจุดแข็งด้านผู้นำทางเทคโนโลยี
  • ผลประกอบการปี พ.ศ. 2567 รายได้จากยอดขาย 90.3 พันล้านยูโร อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี และ อัตรากำไรจากการดำเนินงาน ร้อยละ 3.5 เม็ดเงินลงทุนกว่า 13 พันล้านยูโร
  • บ๊อช ประเทศไทย เติบโตอย่างมั่นคงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน
  • ส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรม บ๊อช จัดสรรเงินทุนกว่า 250 ล้านยูโร กับธุรกิจสตาร์ทอัพ

ชตุทท์การ์ทและเรนนิงเงน เยอรมนี กลุ่มบริษัท บ๊อช มุ่งมั่นเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ปี พ.ศ. 2573 เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ แม้ว่าปัจจัยทางการตลาดจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตในปีที่ผ่านมา โดยในปี พ.ศ. 2567 บ๊อช ผู้ผลิตและให้บริการด้านเทคโนโลยีมีรายได้จากยอดขายลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หรือลดลงร้อยละ 0.5 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน และกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีจากการดำเนินงานอยู่ที่ 3.1 พันล้านยูโร หรือ ร้อยละ 3.5 (ปี พ.ศ. 2566 4.8 พันล้านยูโร) สเตฟาน ฮาร์ตุง ประธานคณะกรรมการบริหารของ Robert Bosch GmbH กล่าวว่า "สำหรับผลประกอบการปี พ.ศ. 2567 เราประสบความสำเร็จในการปรับปรุงส่วนสำคัญด้าน ต้นทุน โครงสร้าง และพอร์ตธุรกิจ เรายังคงตั้งเป้าหมายที่ท้าทายเพื่อการเติบโตและเสริมความแข็งแกร่งเพื่ออิสระภาพทางการเงินของบริษัท กลยุทธ์ ปี พ.ศ. 2573 ช่วยให้เรามีทิศทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกเผชิญกับความผันผวนเพื่อก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในสามผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลก ภายในไม่เกินห้าปีข้างหน้า"

กลยุทธ์ขององค์กรสะท้อนให้เห็นเป้าหมายทางการเงินของบ๊อช ด้วยเช่นกัน ภายใต้ภาวะปกติของค่าเงินเฟ้อที่อัตราระหว่างร้อยละ 2 ถึง ร้อยละ 3 นั้น บ๊อช ตั้งเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่างร้อยละ 6 ถึง ร้อยละ 8 จนถึงปี พ.ศ. 2573 ในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2568 บ๊อช สามารถเพิ่มยอดขายเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้ถึงร้อยละ 4 ทั้งในสกุลเงินยูโรและปรับตามผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน กลุ่มบริษัทบ๊อช ยังคงตั้งเป้าอัตรากำไรที่ร้อยละ 7 ภายในปี พ.ศ. 2569 โดย ฮาร์ตุง เสริมว่า การตั้งเป้าหมายนี้เป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับภาวการณ์ในปัจจุบันที่มีความผันผวนทั่วโลก และที่สำคัญคือการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในแถบเอเชีย "เราจะยังคงดำเนินงานอย่างเข้มงวดในการควบคุมต้นทุนและโครงสร้างขององค์กร พร้อมมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้"

ส่งเสริมนวัตกรรม: ลงทุนกว่า 250 ล้านยูโรกับสตาร์ทอัพบ๊อช อาศัยจุดแข็งด้านนวัตกรรม เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและเทคโนโลยีในปัจจุบัน "ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก เรามุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะใช้จุดแข็งของเราอย่างกล้าหาญ โดยเฉพาะความสามารถด้านนวัตกรรมขั้นสูง" ฮาร์ตุงกล่าว "สิ่งนี้จะเปิดโอกาสมากมายให้เราในอนาคต แม้ในภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย" ในปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว บ๊อช ได้จดสิทธิบัตรมากกว่า 6,700 รายการ ทำให้บริษัทได้รับการจัดอันดับโดย นักวิเคราะห์จาก Clarivate ว่าเป็นหนึ่งใน 100 บริษัทที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก บ๊อช เล็งเห็นศักยภาพจากการร่วมมือกับสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการเติบโต ในฐานะที่เป็นหนึ่งในบริษัทร่วมลงทุนรายใหญ่ที่สุดในยุโรป กลุ่มบริษัทบ๊อช ได้ประกาศบริษัทร่วมทุนใหม่ โดยบริษัทในเครือ Bosch Ventures ที่จะจัดสรรเงินทุนกว่า 250 ล้านยูโร "การลงทุนในสตาร์ทอัพช่วยผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งในภาคธุรกิจและสังคม ขณะเดียวกันยังเป็นประโยชน์ต่อหน่วยธุรกิจของเราเองด้วย" ประธานบ๊อชกล่าว พร้อมอธิบายถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการลงทุนธุรกิจการร่วมลงทุนกลุ่มสตาร์ทอัพ "นวัตกรรมยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน"

ความยั่งยืน: เป้าหมายใหม่ของ CO2 แม้จะมีความผันผวนทางเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมทั้งหลาย บ๊อช ก็กำลังเผชิญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโลก "ขณะนี้เรากำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ขณะที่การค้าเสรีในเศรษฐกิจโลกกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล" ฮาร์ตุงกล่าว ภายใต้สถานการณ์ของรัฐบาลใหม่ในเยอรมนี ฮาร์ตุงเน้นย้ำว่า นโยบายการคลังที่ก่อหนี้ไม่ได้ช่วยให้รอดพ้นนอกจากการออมเงินให้ได้มากที่สุด "ควรเจาะจงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าการลงทุนหลายพันล้านในการวางแผนปฏิรูป" ฮาร์ตุงเสริม กลุ่มบริษัทบ๊อชได้เน้นย้ำถึงความเชื่อมั่นว่า แม้จะมีความผันผวนทั่วโลก แต่การดำเนินการด้านฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศต้องไม่ถูกละเลย โดยประกาศเป้าหมายใหม่ใน Scope 3 ซึ่งฮาร์ตุงอธิบายว่า การลดการปล่อยคาร์บอนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมโดยตรงของบ๊อช เช่น จากการใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหลือน้อยที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2573

ไม่ว่าจะมีเป้าหมายการเติบโตอย่างไร บ๊อช มีเจตจำนงในการปรับเพิ่มเป้าหมายในการลด CO2 เป็นสองเท่าจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2561 ฮาร์ตุง ชี้ให้เห็นว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่ลืมเลือนไปเพียงเพราะเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายอื่นๆ ความยั่งยืนยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบ๊อช"

การพัฒนาธุรกิจในประเทศไทยแม้เศรษฐกิจจะเผชิญกับความท้าทาย แต่บ๊อช ประเทศไทย ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2567 โดยมียอดขายสุทธิรวม 656.88 ล้านยูโรในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงยอดขายของบริษัทที่ไม่ได้รวมอยู่ในงบการเงินรวมและยอดขายภายในให้กับบริษัทในเครือ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากปีก่อน ยอดขายรวมให้กับบุคคลภายนอกในปี พ.ศ. 2567 อยู่ที่ 457 ล้านยูโร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บ๊อช ประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า 1,600 คน ซึ่งตอกย้ำบทบาทของบริษัทในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในท้องถิ่น

"การลงทุนอย่างต่อเนื่องของเราในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของบ๊อชในศักยภาพการเติบโตของประเทศและความมุ่งมั่นของเราในการขับเคลื่อนนวัตกรรมในระดับท้องถิ่น โดยการจัดทำแนวทางการดำเนินงานทางธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน เรากำลังสร้างรากฐานที่มั่นคงเพื่อความสำเร็จระยะยาวในทุกภาคส่วนธุรกิจ" โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทยกล่าว

ในปี พ.ศ. 2567 บ๊อช ประเทศไทย ยังคงเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจยานยนต์ผ่านการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งรวมถึงการขยายสายการผลิตหม้อลมเบรกที่โรงงานของบ๊อชในนิคมฯ อมตะ รวมถึงการเพิ่มสายการผลิตหัวฉีดและคอนเนกเตอร์ ที่โรงงานของบ๊อชในนิคมฯ เหมราช ศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทในระยองยังคงเป็นสินทรัพย์สำคัญ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการที่มีขอบข่ายความรับผิดชอบทั่วโลก เพื่อตอบสนองงานบริการให้กับให้กับลูกค้าทั้งภายในและภายนอก สำหรับธุรกิจอะไหล่รถยนต์ บ๊อช มุ่งเน้นที่การพัฒนาเครือข่ายการจัดจำหน่ายและเพิ่มการเข้าถึงการฝึกอบรมผ่านความร่วมมือเชิงกลยุทธ์

ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตอย่างโดดเด่นในปีที่ผ่านมา โดย Bosch Home Appliances ขยายฐานลูกค้าด้วยการเปิดร้านเรือธงในทำเลค้าปลีกสำคัญๆ เช่น เซ็นทรัลพระรามเก้า เซ็นทรัลเวสต์เกต และอิตัลไทยทาวเวอร์ เพื่อมอบประสบการณ์สัมผัสใกล้ชิดกับผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ กลุ่มเครื่องมือไฟฟ้า ยังเพิ่มศักยภาพในการให้บริการด้วยการเปิดตัวศูนย์บริการแห่งใหม่เพื่อยกระดับการบริการหลังการขายและความพึงพอใจของลูกค้า

ในภาคธุรกิจเทคโนโลยีอุตสาหกรรม บ๊อช เร็กซ์รอธ ประเทศไทย ได้เสริมบทบาทในภูมิภาคด้วยการจัดตั้งศูนย์ความเชี่ยวชาญที่มุ่งเน้นด้านการบริการระบบขับเคลื่อนและมอเตอร์ไฟฟ้า ศูนย์กลางเชิงกลยุทธ์แห่งนี้จะช่วยเพิ่มการสนับสนุนให้กับลูกค้าทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียด้วยการให้บริการบำรุงรักษา การวินิจฉัย และการซ่อมแซมโดยผู้เชี่ยวชาญ

บ๊อช ประเทศไทยลงนามบันทึกความเข้าใจกับกลุ่มบริษัทซีพี ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำของไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มภายใต้กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานและอาคาร เพื่อสำรวจแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับระบบหม้อไอน้ำอุตสาหกรรม โดยเน้นที่การลดการปล่อยคาร์บอนและปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ในปี พ.ศ. 2567 บ๊อช ประเทศไทย ได้เข้าร่วมโครงการ SDG Accelerator Program ของ UNGCNT ซึ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนของบริษัท ได้เป็นอย่างดี บริษัท ยังคงนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลและโซลูชันนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โครงการต่างๆ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำ การลดขยะ และการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมเป็นตัวอย่างของแนวทางดังกล่าว นอกจากนี้ บ๊อชยังให้การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นผ่านโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต่างๆ รวมถึงงานวิ่งการกุศล การบริจาคเงินเพื่อบรรเทาทุกข์จากอุทกภัยให้กับสภากาชาดไทย และความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับ Primavera ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของพนักงานบ๊อช เพื่อให้การสนับสนุนระยะยาวแก่มูลนิธิ Hand to Hand ในชลบุรีและมูลนิธิ Skills for Life ในเชียงใหม่

บ๊อช ยืนหยัดด้วยจุดแข็งด้านผู้นำทางเทคโนโลยี