นางสาวประภานิช ประภานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพเด็กซีเอดี เซ็นเตอร์ (CAD CENTER) Center for Autism Development ในฐานะนักวิเคราะห์พฤติกรรมที่ได้รับการรับรอง (Board Certified Behavior Analyst: BCBA) จากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กหรือจิตแพทย์เข้ามาร่วมในทีมบำบัดเด็กออทิศติกนั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญของการดูแลแบบ Comprehensive Intervention ที่เน้นการบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาเพื่อดูแลเด็กอย่างรอบด้าน เพราะข้อดีของการมีทีมสหวิชาชีพ จะช่วยให้การวินิจฉัยและประเมินที่แม่นยำยิ่งขึ้น เนื่องจากจิตแพทย์เด็กสามารถตรวจหาภาวะร่วม เช่น ความวิตกกังวลหรือ ADHD ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการของภาวะออทิสติก (ASD) และส่งผลช่วยเรื่องการวางแผนการบำบัดให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
นอกจากนี้แล้วยังเป็นการออกแบบแผนการบำบัดที่เฉพาะบุคคลมากขึ้น เนื่องจากความร่วมมือระหว่างจิตแพทย์กับ BCBA ช่วยให้สามารถบูรณาการทั้งการใช้ยา (เมื่อจำเป็น) และการบำบัดพฤติกรรมเข้าด้วยกัน ส่งผลให้เด็กได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทั้งด้านพฤติกรรมและอารมณ์ นอกจากนี้แล้วยังเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม เนื่องจากเด็กที่ได้รับการบำบัดจากหลายสาขาอย่างเป็นระบบ มักมีพัฒนาการทั้งในด้านการสื่อสาร สังคม และการควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น เนื่องจากเรากำลังดูแลทั้ง "ภายนอก" (พฤติกรรมที่สังเกตได้) และ "ภายใน" (สุขภาพจิตและอารมณ์) ไปพร้อมกัน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น เพราะครอบครัวสามารถรับคำแนะนำที่เป็นระบบ สอดคล้อง และลดภาวะเครียดจากการพยายามประสานงานหลายฝ่ายด้วยตนเอง
การที่ศูนย์ CAD CENTER มีแพทย์ประจำจะทำให้มีศักยภาพในการดูแลเด็กได้อย่างรอบด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องพฤติกรรมอย่างเดียว แต่รวมถึงอารมณ์ สุขภาพจิต และพัฒนาการโดยรวม เพราะบางครั้งเด็กออทิสติกอาจมีปัญหาที่ซับซ้อนร่วมด้วย เช่น สมาธิสั้น ความกังวล หรือแม้แต่พฤติกรรมบางอย่างที่ดูเหมือนเป็นนิสัย แต่จริง ๆ อาจเป็นอาการ Tics หรือภาวะทางระบบประสาท ซึ่งต้องอาศัยจิตแพทย์เข้ามาช่วยวินิจฉัย เพื่อที่ทีมบำบัดจะได้วางแผนให้ถูกจุด ไม่ไปฝึกสิ่งที่อาจทำให้เด็กเครียดโดยไม่รู้ตัว
ผศ.นพ. ทรงภูมิ เบญญากร อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผู้ก่อตั้ง Sunshine Mind Cliic เปิดเผยว่า การได้มาร่วมเป็นแพทย์ประจำศูนย์ CAD CENTER เป็นการทำงานเพื่อดูแลเด็กออทิสติกซึ่งจำเป็นต้องใช้ทีมสหวิชาชีพ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด และอื่น ๆ เพื่อช่วยการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กแต่ละคน สำหรับศูนย์ที่ทำงานร่วมกับจิตแพทย์นั้นถือว่าเป็นการบำบัดที่ครบวงจร เนื่องจากมีแพทย์จะทำหน้าที่ประเมินและวินิจฉัย เพราะการที่จะรู้ว่าเด็กคนไหนเป็นออทิสติกหรือไม่เป็น ต้องใช้วิธีประเมินเพื่อค้นหาความบกพร่อง เพื่อเข้าสู่กระบวนการกระตุ้นพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ยากับเด็กทุกคน
สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กที่ไม่มีแพทย์จำเป็นต้องส่งเด็กไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ที่ผ่านมาพบว่าปัญหาหนึ่งที่ต้องส่งเด็กไปกระตุ้นพัฒนาการที่อื่น คือแพทย์ไม่สามารถพบเด็กได้ทุกอาทิตย์ ในขณะที่ครูสามารถเข้าถึงเด็กได้มากกว่า ดังนั้น ศูนย์พัฒนาการเด็กครบวงจรที่มีทั้งแพทย์และครูทำงานร่วมกัน จะช่วยให้มีข้อมูลต่าง ๆ ของเด็กที่ชัดเจนมากกว่า ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบำบัดมีความแตกต่างกันระหว่างการส่งเด็กไปกระตุ้นที่อื่นกับศูนย์ที่มีการบำบัดแบบครบวจร
ในต่างประเทศนั้นส่วนใหญ่ส่งเด็กไปกระตุ้นพัฒนาการกับแพทย์ที่โรงพยาบาล อาจทำทุก ๆ 3 เดือน บางครั้งเด็กสามารถควบคุมตัวเองได้ดีแพทย์จึงไม่เห็นอาการบกพร่อง ดังนั้น หากศูนย์ไหนมีแพทย์เข้ามาทำงานร่วมกับครูจะมีความได้เปรียบในการบำบัด เนื่องจากช่วยให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าจะสามารถพบแพทย์ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นของเด็กแต่ละคนที่จะต้องพบแพทย์นั้นขึ้นอยู่กับความเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม เด็กควรได้รับการประเมินจากแพทย์ทุก ๆ 3-6 เดือน ยกเว้นกรณีที่ต้องบำบัดด้วยยาอาจต้องพบแพทย์บ่อยเพื่อปรับยาให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก นอกจากนี้แล้วครูจะต้องติดต่อแพทย์ในกรณีที่จำเป็นและเร่งด่วน หรืออาจส่งคลิปวีดีโอส่งให้แพทย์ประเมินปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก ไม่จำเป็นต้องพาเด็กมาพบแพทย์ก็ได้
สำหรับผู้ที่สนใจหลักสูตรของศูนย์พัฒนาศักยภาพเด็ก CAD CENTER เปิดให้บริการตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 065-496-2826 หรือ cadcenter.co.th
