ผศ. ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ NSM กล่าวชื่นชมเยาวชนไทยทั้ง 14 ทีม ว่า "ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับเยาวชนทุกคนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ มุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มศักยภาพ จนสามารถคว้ารางวัลมาได้สำเร็จ ถือเป็นการแสดงออกถึงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทยได้อย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นด้านทฤษฎี การประยุกต์ใช้ รวมทั้งการนำเสนอผลงานโดยใช้การสื่อสารทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งล้วนสะท้อนถึงความสามารถที่น่ายกย่อง ผลงานของเยาวชนไทยสามารถแสดงศักยภาพจนได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลกในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการศึกษา ค้นคว้า และทดลองอย่างต่อเนื่องของนักเรียน รวมถึงความทุ่มเทของครูที่ปรึกษาทุกท่าน เชื่อมั่นว่าทุกผลงานของเยาวชนเหล่านี้จะได้รับการเผยแพร่และพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงในวงกว้างต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไทยในด้านวิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรม นำไปสู่การสร้างคนและบุคลากรในสังคมให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในอนาคต"
ด้าน รศ. ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวแสดงความยินดีว่า "ปีนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ NSM ได้ส่งตัวแทนทีมเยาวชนไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 8 ทีม โดยผลงานถูกคัดเลือกจากการประกวดจากค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 20 (20th Thailand Young Scientist Festival, TYSF20) โดย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงศึกษาธิการ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในปีนี้ ผลงานของทีมเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลมาครองได้สำเร็จด้วยโครงงานวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่สามารถสร้างโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ และหวังว่าจะสามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จากการศึกษาวิจัยเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมวิทยาศาสตร์ให้ยั่งยืนต่อไป"
ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า "สวทช. ตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างขุมกำลังด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างขุมกำลังในด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมและกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจและเพิ่มพูนทักษะทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ในระดับนักเรียน เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามนโยบายของกระทรวง อว. โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ปีนี้ สวทช. ได้คัดเลือกทีมเยาวชนไทย จำนวน 6 ทีม จากการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 27 (27th Young Scientist Competition, YSC 2025) ที่ สวทช. สนับสนุนตั้งแต่ปี 2542 โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายที่ร่วมเป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาคของโครงการฯ จัดประกวดโครงงานในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 - 6 ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นนวัตกรรม ให้สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และต้องขอชื่นชมเยาวชนไทยทุกคนว่าสามารถทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยม หวังว่าจะสามารถนำประสบการณ์ในครั้งนี้ไปต่อยอดเพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไป"
ผลงานเยาวชนสามารถคว้ารางวัล REGENERON ISEF 2025 ดังนี้
รางวัล Grand Award อันดับที่ 1 พร้อมเงินรางวัล 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่
- โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ในสาขาเทคโนโลยีส่งเสริมศิลปะ กับ โครงงานไอเบรลล์ : การปฏิรูปการศึกษาเบรลล์อย่างเป็นระบบด้วย AI และเทคโนโลยีสัมผัสต้นทุนต่ำ เพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียมที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยมี นายศิวกร สุวรรณหงส์ นายปัณณวิชญ์ พลนิรันดร์ และน.ส.ศตพร ธนปัญญากุล เป็นผู้จัดทำโครงงาน นางรุ่งกานต์ วังบุญ และ นายกฤติพงศ์ วชิรางกุล เป็นครูที่ปรึกษา
รางวัล Grand Award อันดับที่ 2 พร้อมเงินรางวัล 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ทั้งหมด 2 รางวัล ได้แก่
- โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงาน การพัฒนานวัตกรรมฟองน้ำชีวภาพเพื่อลดพฤติกรรมการกินกันเอง สำหรับการอนุรักษ์ปูม้า และระบบนิเวศชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยมี นายพิสิษฐ์ อาศิระวิชัย เป็นผู้จัดทำโครงงาน น.ส.วนิดา ภู่เอี่ยม นายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ และนายอดิเรก พิทักษ์ เป็นครูที่ปรึกษา
- โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ กับ โครงงานการศึกษาแบบจำลองสามมิติและแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของพฤติกรรมการพลิกตัวกลับในกิ้งกือกระสุนพระอินทร์ โดยมี น.ส.พิมพ์พันดาว พุทธรักษ์ขิต และ นายธรรมพิสุทธิ์ เปรมสิงห์ชัย เป็นผู้จัดทำโครงงาน ดร.คณัสนันท์ พลรัตน์ และ ดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ เป็นครูที่ปรึกษา
รางวัล Grand Award อันดับที่ 3 พร้อมเงินรางวัล 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่
- โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงาน BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไรต่อกรดฟอร์มิกโดยมี นายปัณณวิชญ์ ธีรนันท์พัฒธน น.ส.วิภารัศมิ์ ธะนะวงศ์ และ นายกฤตนน เมืองแก้ว เป็นผู้จัดทำโครงงาน นายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร เป็นครูที่ปรึกษา
- โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงานการเพิ่มประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยในการควบคุมศัตรูพืชแบบชีวภาพ โดยมี นายบุริศ เบญจรัตนานนท์ และนายปภาวิน คงคติธรรม เป็นผู้จัดทำโครงงาน นายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ น.ส.วนิดา ภู่เอี่ยม และ น.ส.สุวรรณา อัมพรดนัย เป็นครูที่ปรึกษา
- โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) จ.ขอนแก่น ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงานนวัตกรรมสูตรอาหารและปัจจัยแวดล้อม เพื่อการเพาะเลี้ยงแมลงดานาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี นายกษิเดช ศรีสุข น.ส.ธัญวรัตม์ จาตุรนต์ และนายพฤทธชาต คงสวัสดิ์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และดร.ประเทืองสุข มณีล้ำ เป็นครูที่ปรึกษา
รางวัล Grand Award อันดับที่ 4 พร้อมเงินรางวัล 600 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ทั้งหมด 2 รางวัล ได้แก่
- โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต กับโครงงานการพัฒนาอนุภาคนาโนจากสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการงอกใหม่ของพลานาเรียสายพันธุ์ Dugesia japonica สำหรับการรักษาบาดแผลเพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมแผ่นปิดบาดแผล โดยมี นายกฤตยชญ์ ไทยสุริยันต์ นายปราชญ์ อำพนธ์ และ น.ส.ปาณิศา สว่างสุรีย์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน ดร.สุภานันท์ สุจริต เป็นครูที่ปรึกษา
- โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงานนวัตกรรมใหม่แบบผสานวิธีเพื่อการขยายพันธุ์ และการอนุรักษ์ชันโรงดิน (Tetragonula collina) โดยมี นายธนวัฒน์ สมญาพรเจริญชัย นายธนกร สาคุณ และ นายณัฐชพน วงศาโรจน์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายสุธิพงษ์ ใจแก้ว และ นายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร์ เป็นครูที่ปรึกษา
ขณะเดียวกันทีมเยาวชนไทยยังสามารถคว้ารางวัล Special Awards ได้อีก 3 รางวัล ได้แก่
- โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง คว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 1 จาก TUBITAK The Scientific and Technological Research Council of Tuerkiye พร้อมเงินรางวัล 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ กับโครงงานการศึกษากระบวนการภายในของสมบัติการแปรเปลี่ยนด้วยแสงของธาตุวานาเดียมที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพภาวะความไม่ชอบน้ำของฟิล์มชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลัง โดยมี นายปองภพ แสงสว่าง น.ส.ชญาดา วิสุทธิรัตนมณี และ น.ส.ณิชาพัฒน์ อึ้งอารี เป็นผู้จัดทำโครงงาน ดร.ยุติชัย เหมือนเงิน ประทีปะเสน และ นางณัฐพุทธิญา ชวนะลิขิกร เป็นครูที่ปรึกษา
- โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย คว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 2 จาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society พร้อมเงินรางวัล 800 ดอลลาร์สหรัฐ กับโครงงาน BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไรต่อกรดฟอร์มิก โดยมี นายปัณณวิชญ์ ธีรนันท์พัฒธน น.ส.วิภารัศมิ์ ธะนะวงศ์ และนายกฤตนน เมืองแก้ว เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร เป็นครูที่ปรึกษา
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย จ.เชียงราย คว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 4 จาก American Chemical Society พร้อมเงินรางวัล 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ กับโครงงานการสังเคราะห์โมเลกุลเซนเซอร์ฐานสารสีย้อมเคอร์คูมินที่สกัดจากขมิ้นชันสำหรับตรวจวัดแอลดีไฮด์สายยาวซึ่งเป็นสารบ่งชี้โรคมะเร็งปอด โดยมี นายธนัช ไชยมงคล เป็นผู้จัดทำโครงงาน นายธีรพัฒน์ ขันใจ และ รศ.ดร.บุษยรัตน์ ธรรมพัฒนกิจ เป็นครูที่ปรึกษา
โดยทีมเยาวชนไทยจะเดินทางกลับจากการแข่งขันถึงประเทศไทยในวันที่ 19 - 21 พ.ค. นี้ สามารถติดตามข่าวสารและร่วมแสดงความยินดีได้ที่เพจ FB: NSMTHAILAND
