ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เผยว่า จากความสำเร็จอย่างท่วมท้นของโครงการ Siriraj x MIT Hacking Medicine 2024 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือระยะเวลา 3 ปี กับโครงการ MIT Hacking Medicine จาก MIT เพื่อจัดกิจกรรมการประชุมวิชาการ และ Hackathon ด้านนวัตกรรมระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยทุกปี จนถึงปี 2027 ความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงพันธกิจร่วมของทั้งสองสถาบันในการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ด้าน Health Innovation ที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในระดับอาเซียน รวมทั้งยกระดับนวัตกรรมสุขภาพสู่เชิงพาณิชย์ ผ่านการวางรากฐานระบบนิเวศเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ เทคโนโลยี และแนวคิดใหม่ ๆ
นอกจากนั้น โครงการนี้ยังถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็น "ศูนย์กลางนวัตกรรมสุขภาพแห่งอาเซียน" (ASEAN Health Innovation Hub) ด้วยการผนึกพลังจากทั้งสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน สตาร์ทอัพ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสุขภาพ รวมทั้งยังสอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้าน Bio Health และ Digital Health ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
"ความร่วมมือกับ MIT อย่างต่อเนื่องครั้งนี้ คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้แนวคิดนวัตกรรมด้านสุขภาพของไทยสามารถออกสู่ตลาดโลกได้จริง นอกจากนี้ โครงการนี้เรายังมุ่งหวังสร้างผลกระทบในระดับอาเซียน (ASEAN Impact) โดยไม่จำกัดเฉพาะประเทศไทย ทั้งการมีส่วนร่วมของผู้เข้าแข่งขัน ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่สนใจที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน การรวมพลังของอาเซียนในด้านนวัตกรรมสุขภาพคือกุญแจสำคัญที่ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่คือการเชื่อมโยงคน ความคิด และพันธมิตรที่จะสร้างระบบสุขภาพใหม่ให้ภูมิภาคนี้ ทั้งยังเป็นกลยุทธ์ในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมการแพทย์"
งาน Siriraj x MIT Hacking Medicine 2025 จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "AI Today: Transforming Tomorrow's Healthcare" ครอบคลุม 2 หัวข้อที่เป็นประเด็นท้าทายในทั่วโลก ประกอบด้วย โรคเรื้อรัง (Chronic Disease) และ สุขภาพจิต (Mental Health)
โดยกิจกรรมจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2568 ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การประชุมวิชาการด้านสุขภาพระดับนานาชาติ ที่รวมผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ สตาร์ทอัพ และกลุ่มนักลงทุนหลากหลายอุตสาหกรรมมาร่วมเป็นวิทยากรบรรยาย ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพในแง่มุมต่าง ๆ และร่วมกันถกปัญหาสู่โซลูซั่นที่ยั่งยืน ต่อด้วย Hackathon การแข่งขันระดมไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ครั้งใหญ่ในประเทศไทย เปิดกว้างสำหรับผู้ที่มีความสนใจจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ องค์กรเอกชน ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ นวัตกร สถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ หรือบุคลากรทางการแพทย์จากทั่วภูมิภาค ที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการสร้างนวัตกรรมสุขภาพเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของอาเซียน ทั้งนี้ ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับ "Golden Tickets" เพื่อเข้าร่วม "MIT Grand Hack 2026" ที่จะจัดขึ้นที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับ
ศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า "Siriraj x MIT Hacking Medicine ไม่ใช่เพียงเวทีการแข่งขันเชิงวิชาการ แต่คือจุดเริ่มต้นของธุรกิจสุขภาพยุคใหม่ เราไม่ได้มองแค่การแข่งขัน Hackathon 3 วัน แต่เรากำลังสร้างแพลตฟอร์มระยะยาวเพื่อผลักดันให้เกิดธุรกิจด้านสุขภาพที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับโอกาสในการนำเสนอต่อภาคเอกชน นักลงทุน และแหล่งทุนที่พร้อมสนับสนุนการต่อยอดสู่ HealthTech Startup ที่สามารถขยายสู่ตลาดจริงได้"
อีกหนึ่งจุดเด่นของปีนี้ คือการขยายโครงการ HEALTHi Lab ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะเวลา 2 เดือน โดยเริ่มในเดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2568 ที่ผสานองค์ความรู้ทางการแพทย์ เทคโนโลยี และธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้าง "ผู้ประกอบการสุขภาพยุคใหม่" ที่มีทั้งความเข้าใจปัญหาเชิงลึก และศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาด โดย MIT จะนำประสบการณ์จากบอสตัน ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมสุขภาพระดับโลก มาสร้างโมเดลความร่วมมือในไทย ขณะที่ "ศิริราช" พัฒนาโครงการนี้ให้เป็น Sandbox สำหรับนวัตกรรุ่นใหม่ ในการลงพื้นที่ เข้าใจปัญหา และออกแบบทางออกอย่างแท้จริง
"โครงการนี้ไม่ใช่แค่เวทีการแข่งขันนวัตกรรม แต่คือการวางโครงสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืน ที่จะหล่อหลอมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพในภูมิภาค ผ่านแนวคิดหลักของปีนี้ "AI Today, Transforming Tomorrow's Healthcare" ที่สอดรับกับเทรนด์ระดับโลกที่ใช้ AI, Big Data, Machine Learning และ Predictive Analytics มายกระดับการวินิจฉัย การรักษา และการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข
ดังนั้น Siriraj x MIT Hacking Medicine จะเป็นแพลตฟอร์มบ่มเพาะที่เปิดพื้นที่ให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนักลงทุนเข้าถึงไอเดียนวัตกรรมที่มีศักยภาพต่อการพลิกโฉมวงการสุขภาพในอนาคต รวมถึงได้เข้ามาสังเกตปัญหาจริงภายในโรงพยาบาล ร่วมระดมความคิดกับแพทย์และผู้ป่วย เพื่อนำไปสู่ต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็น HealthTech Startup ที่สร้างผลกระทบจริงในระบบสุขภาพต่อไป" Prof. Anjali Sastry, Associate Dean of MIT Open Learning กล่าวเสริม
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสุดยอดการประชุมสุขภาพ 'Siriraj x MIT Hacking Medicine 2025' หรือเข้าร่วมการแข่งขัน Hackathon สมัครได้แล้วทางเว็บไซต์ www.SirirajxMITHackingMedicine.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางอีเมล [email protected]