กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม DIPROM หรือ ดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดพิธีเปิด"กิจกรรมพัฒนาบุคลากรหัตถอุตสาหกรรมไทย ภายใต้โครงการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายบุคลากรอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Alliance) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
โดยมีนายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.นันท์ บุญยฉัตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คุณวิวัฒน์ หิรัญพฤกษ์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น นางสาวกฤษณา รวยอาจิณ อดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรม และ ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เข้าร่วมพิธี ภายในงานมีการจัดเสวนาให้ความรู้ จากกูรูผู้คร่ำหวอดมากมาย ในหัวข้อ "ปั้นแบรนด์หัตถกรรมไทย ให้เฉิดฉายบนเวทีโลก" อาทิ คุณรัฐ เปลี่ยนสุข เจ้าของแบรนด์ SUMPHAT GALLERY (นักออกแบบไทยที่นำพางานหัตถกรรมไทยสู่แบรนด์ระดับโลก) และคุณอิสระ ชูภักดี เจ้าของแบรนด์ KORKOK (จากผู้ผลิตงานจักสานเสื่อกก สู่ผู้ขับเคลื่อน จังหวัดจันทบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ UNESCO) งานนี้มีผู้สนใจ ทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ ร่วมชมผลิตภัณฑ์หัตถอุตสาหกรรมที่นำมาจัดแสดงหน้างาน และเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก สำหรับงานดังกล่าว จัดขึ้น ณ ห้อง Sapphire ชั้น 2 โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพ
นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มุ่งขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยวและใช้ชีวิตในเมืองไทย ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงสำคัญ (Flagship Policy) ที่มีเป้าหมายผลักดันโครงการและแผนงานด้านต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของไทยและหนึ่งในนั้น คือ สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทั้งในด้านมูลค่าและการจ้างงาน โดยปี 2564 สามารถสร้างรายได้ราว 3.9 แสนล้านบาท การส่งออกสินค้าแฟชั่นมีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานราว 8 แสนคน อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย สาขาแฟชั่น ให้ก้าวสู่ Soft Power ในระดับสากล กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จึงได้ดำเนิน "กิจกรรมการพัฒนาบุคลากรหัตถอุตสาหกรรมไทย" ภายใต้โครงการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายบุคลากรอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Alliance) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) และสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของชาติภายใต้นโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้" ตามนโยบาย 4 ให้ 1 ปฏิรูป ให้ทักษะใหม่ให้เครื่องมือทันสมัย ให้โอกาสโตไกล ให้ธุรกิจไทยที่ดีคู่ชุมชน และปฏิรูปดีพร้อมสู่องค์กรที่ทันสมัยตามกลไกด้านการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ด้วยการ "สร้างสรรค์และต่อยอด" ให้เกิดเสน่ห์ คุณค่า และเพิ่มมูลค่า "โน้มน้าว" ให้เกิดการยอมรับ เปิดใจ และต้องการ "เผยแพร่" ให้เป็นที่รู้จัก
โดยกิจกรรมดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในสาขาหัตถอุตสาหกรรมไทย ครอบคลุมสาขางานผ้าพื้นเมือง งานปัก เครื่องหนัง เซรามิก เครื่องจักสาน และอื่น ๆ มุ่งเน้นการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับการออกแบบร่วมสมัย จำนวน 100 คน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและระดับสากล พร้อมทั้งสร้างเรื่องราวแบรนด์ (Storytelling) และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ไทยผ่านการฝึกอบรมเชิงลึกทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต การศึกษาดูงาน และการใช้กลยุทธ์การตลาด การสื่อสาร นำไปสู่การเพิ่มยอดขายสินค้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อยอดงานหัตถอุตสาหกรรมร่วมเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย สร้างให้โอกาสโตไกล และเชื่อมโยงสู่ตลาดโลก THAI Craft to the WORLD อย่างยั่งยืน
