กรมลดโลกร้อน ร่วมเปิดตัว 'Thailand Taxonomy 2.0' ยกระดับมาตรฐานเศรษฐกิจสีเขียว ขับเคลื่อนไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับอีก 32 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงานสัมมนา Thailand Taxonomy 2.0: ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกิดความเข้าใจและกระตุ้นการใช้ Thailand Taxonomy ให้เป็นมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับประเทศไทย เป้าหมายเพื่อสนับสนุนการจัดสรรเงินทุนไปยังกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ในการนี้ ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จึงได้มอบหมายให้นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมพิธีเปิดงาน ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร ในนามผู้แทนคณะทำงานฯ หลัก

Tuesday 27 May 2025 18:06
กรมลดโลกร้อน ร่วมเปิดตัว 'Thailand Taxonomy 2.0' ยกระดับมาตรฐานเศรษฐกิจสีเขียว ขับเคลื่อนไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

Thailand Taxonomy ในระยะแรก (Phase 1) ครอบคลุมกิจกรรมในภาคพลังงานและขนส่ง ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดของประเทศ ส่วนในระยะที่ 2 (Phase 2) ได้ขยายให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจเพิ่มเติม คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการจัดการของเสีย ซึ่งทั้งหมดนี้คิดเป็นสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 95% ของประเทศ ดังนั้น Thailand Taxonomy จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ทางเศรษฐกิจ สนับสนุนธุรกิจและการลงทุนของประเทศไทยให้เติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืน

โอกาสนี้ นายปวิช ได้ให้ข้อมูลว่ากรมฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักของคณะทำงานฯ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการดำเนินภารกิจหลักในการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมทั้งเพื่อพัฒนาและส่งเสริมกลไกทางการเงินที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ... ที่ถูกจัดให้อยู่ในระบบ Fast-Track และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เพื่อเตรียมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในลำดับถัดไป

นอกจากนี้ ร่าง พรบ. Climate Change ยังได้บรรจุ Thailand Taxonomy เป็นองค์ประกอบสำคัญในหมวดที่ 13 ว่าด้วยมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่เชื่อมโยงในระดับนโยบายและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศ ในหมวดที่ 4 ของร่าง พรบ. ฉบับนี้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อช่วยวางรากฐานการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของการส่งเสริมการลงทุนด้านภูมิอากาศ และการยกระดับขีดความสามารถของภาคธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ

ดังนั้น "Thailand Taxonomy จึงไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับความโปร่งใสของตลาดทุนและธุรกิจ แต่ยังเป็นกลไกสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศ ทั้งตามกรอบ NDC 3.0 เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของประเทศไทยในระยะยาว" นายปวิช กล่าวเน้นย้ำปิดท้าย

กรมลดโลกร้อน ร่วมเปิดตัว 'Thailand Taxonomy 2.0' ยกระดับมาตรฐานเศรษฐกิจสีเขียว ขับเคลื่อนไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน