การเดินหน้าเรื่องเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลขององค์กรไทย
ในปี 2568 สถานะขององค์กรไทยในเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ยังคงใกล้เคียงกับผลสำรวจของปีที่ผ่านมา โดยองค์กร ที่อยู่ในระยะ 'Doing Digital' มีสัดส่วนมากที่สุดที่ร้อยละ 44 ตามด้วยระยะ 'Becoming Digital' ที่ร้อยละ 28 และระยะ 'Being Digital' ที่ร้อยละ 15 ขณะที่กลุ่ม 'Exploring Digital' กับ 'Digital Laggard' เป็นส่วนน้อยที่ร้อยละ 10 และร้อยละ 3 ตามลำดับ เหล่านี้สะท้อนถึงการวางกลยุทธ์ที่สมดุลและระมัดระวังมากขึ้น และองค์กรไทยไม่ได้มองว่าการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลเป็นเรื่องการทดลองการใช้เทคโนโลยีต่อไป แต่กำลังผสานเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจหลักอย่างเต็มรูปแบบ และมุ่งสู่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้มากขึ้น
สำหรับผลลัพธ์ของการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลที่องค์กรไทยประสบความสำเร็จสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การเพิ่มผลิตภาพการทำงานของพนักงาน (ร้อยละ 67) การยกระดับประสบการณ์ลูกค้า (ร้อยละ 61) และการลดต้นทุน (ร้อยละ 58) สะท้อนถึงการลงทุนที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่รวดเร็ว ขณะที่องค์กรที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลสูง มีแนวโน้มการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ความท้าทายสำคัญยังคงครอบคลุม 3 ด้านหลัก ได้แก่ การขาดทักษะและความเชี่ยวชาญ (ร้อยละ 35) การขาดงบประมาณและทรัพยากร (ร้อยละ 34) และการยึดติดกับระบบไอทีเดิม (ร้อยละ 31) ซึ่งมาแทนประเด็นความไม่พร้อมด้านวัฒนธรรมทางดิจิทัลในปีที่แล้ว
การลงทุนด้านเทคโนโลยีในองค์กร และการปรับใช้ GenAI
องค์กรไทยยังคงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น เว็บไซต์แบบดั้งเดิม (ร้อยละ 44) คลาวด์ (ร้อยละ 65) และแอปพลิเคชันมือถือ (ร้อยละ 57) ขณะที่ Data Analytics เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ได้รับความสนใจมากที่สุด (ร้อยละ 70) ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่มีแนวโน้มกระจายการลงทุนไปยังเทคโนโลยี AI, Augmented Reality/Virtual Reality (AR/VR), หุ่นยนต์, Internet of Things (IoT) และบล็อคเชน (Blockchain)
อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่น่าจับตามองที่สุดในปีนี้ คือ GenAI ที่ทุกองค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ต่างตื่นตัวและมีการนำไปใช้อย่างมีนัยสำคัญ ผลสำรวจพบว่า องค์กรที่อยู่ในกลุ่ม 'Being Digital' มีแนวโน้มใช้ Data Analytic มากกว่ากลุ่ม 'Digital Laggard' ถึง 2 เท่า และใช้ AI มากกว่าถึง 5 เท่า
ในภาพรวมองค์กรไทยจะตื่นตัว แต่ผู้นำขององค์กรในไทยยังประเมินระดับความเชี่ยวชาญด้าน GenAI ของตนเองต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยมีเพียงร้อยละ 5 ที่มองว่าตนมีความเชี่ยวชาญในระดับ "สูงถึงสูงมาก" เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ร้อยละ 44 โดยอุตสาหกรรมที่นำหน้าในการใช้ GenAI ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ สื่อและโทรคมนาคม และบริการทางการเงิน
มุมมองต่อ GenAI และการใช้งานภายในองค์กร
ผู้บริหารระดับสูงมีมุมมองต่อ Gen AI ที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มกรรมการบริษัท และ CEO เกือบร้อยละ 60 เห็นว่ายังให้ความสนใจด้าน GenAI ไม่เพียงพอ ขณะที่ผู้บริหารสายเทคโนโลยี (CIO/CTO) มากกว่าร้อยละ 80 เชื่อว่าตนให้ความสำคัญในระดับที่เหมาะสมแล้ว ช่องว่างนี้อาจส่งผลต่อความเร็วในการปรับตัวและการขับเคลื่อนองค์กร
โดยแผนกที่มีการนำ GenAI มาใช้มากที่สุดในองค์กร ได้แก่ แผนกไอทีและความปลอดภัยทางไซเบอร์ และแผนกการตลาด การขายและการบริการลูกค้า โดยการใช้งาน GenAI 5 อันดับแรก ได้แก่ การสืบค้นข้อมูล (ร้อยละ 68) การสรุปเนื้อหาเอกสาร การประชุม และข่าว (ร้อยละ 54) การผลิตคอนเทนต์ประเภทข้อความ ภาพ เสียง และวิดีทัศน์ (ร้อยละ 50) การแปลภาษา (ร้อยละ 48) และการใช้เป็นผู้ช่วยเสมือนหรือแชทบอท (ร้อยละ 45)
ความท้าทายในการนำ GenAI ไปใช้
ความท้าทายที่สำคัญของการนำ GenAI ไปใช้ 3 อันดับแรก ได้แก่ ความพร้อมด้านบุคลากร (ร้อยละ 63) การขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจน (ร้อยละ 32) และการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม (ร้อยละ 24) ดังนั้นการวางกลยุทธ์ภาพรวมและการวางแผนพัฒนาบุคลากรจึงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ
ซันเยห่ สัจเดว ผู้อำนวยการ แผนก Technology & Transformation ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า "ปัจจุบัน หลายองค์กรมีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนองค์กรด้วยการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล หรือแม้กระทั่งการนำ GenAI มาปรับใช้ในองค์กรนั้น ผู้บริหารไม่สามารถมองเพียงมิติของเทคโนโลยีอย่างเดียวได้ แต่ควรต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนและสอดคล้องกับทิศทางขององค์กรตั้งแต่ต้น การลงทุนด้วยความเข้าใจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในเชิงธุรกิจอย่างแท้จริง"
ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร แผนก Growth ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า "จากการเก็บข้อมูลผู้บริหารอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ทำให้เราตระหนักได้ว่า เพื่อยกระดับโดยรวม องค์กรควรมองการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเป็นการเดินทาง (Journey) ไม่ใช่โครงการครั้งเดียวจบ (One-time project) ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลจะสำเร็จได้เมื่อทุกส่วนในระบบนิเวศธุรกิจ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีความเข้าใจในธุรกิจและก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน"
