แม้ AI จะฉลาดเพียงใด ต้องมีหัวใจ เคารพสิทธิมนุษยชน
เราทุกคนต่างชื่นชมในศักยภาพของ AI แต่คำถามคือ เราจะควบคุมพลังของ AI อย่างไรให้ยังคงเคารพศักดิ์ศรี สิทธิ และคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยไม่ถูกครอบงำจากการแข่งขันทางเทคโนโลยี? กับความท้าทายในโลกยุคดิจิทัลที่ AI กำลังเข้ามามีบทบาทสร้างการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ นี้ นายมนตรี กล่าวว่า "ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาให้มีความฉลาด รวดเร็ว เที่ยงตรง และสามารถเรียนรู้ข้อมูลมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความสำคัญ คือ กลไกควบคุมและตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่า AI จะถูกนำไปใช้ภายใต้กรอบที่กำหนด และยึดหลักจริยธรรมอย่างเคร่งครัด"
"ทั้งนี้ AI เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวพันกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในฐานะองค์กรที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ทรู ให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า อันเป็นการเคารพสิทธิมนุษยชนอีกมิติหนึ่งในยุคดิจิทัล โดยยึดหลัก "Privacy and Security by Design" ซึ่งเป็นการเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวที่ปกป้องข้อมูลลูกค้าให้ปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ พร้อมประเมินผลกระทบของทุกบริการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะบริการที่เป็นผลจากการใช้เทคโนโลยี AI" นายมนตรี กล่าวเสริม
4 เสาหลักสู่การพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรม
ทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งมั่นพัฒนาและใช้งานปัญญาประดิษฐ์ AI อย่างรับผิดชอบ โดยมีหลัก 4 แกนสำคัญ ได้แก่
1. โปร่งใส (Transparency) - ให้ข้อมูลที่ชัดเจนและอธิบายได้เกี่ยวกับกระบวนการทำงานและการตัดสินใจของ AI ได้ ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง
2. การเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect for Human Rights) - ยึดมั่นในศักดิ์ศรี ความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพของแต่ละบุคคล ไม่ทำร้ายมนุษย์
3. ความเป็นธรรมและลดอคติ (Fairness and Inclusion) - สร้างความมั่นใจว่า AI จะให้ผลลัพธ์อย่างเท่าเทียม ปราศจากอคติ และไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
4. การออกแบบโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centered Design) - ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดี ความปลอดภัย และการเข้าถึงของผู้ใช้งานทุกคน
สร้างความร่วมมือข้ามพรมแดน ขับเคลื่อนธรรมาภิบาล AI
องค์กรในระดับภูมิภาคควรร่วมมือกันอย่างไรในการออกแบบ AI ให้เกิดความยั่งยืน ต่อเรื่องนี้ นายมนตรี กล่าวว่า "แต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันทั้งในด้านวัฒนธรรม จิตวิทยาสังคม และมุมมองต่อสิทธิมนุษยชน ดังนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การออกแบบที่เปิดให้แต่ละภูมิภาคมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการใช้ AI ที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง โดยต้องอาศัยความเข้าใจร่วมกันและการปรับจูนมุมมองก่อนที่จะสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และที่สำคัญที่สุด การพัฒนา AI ในทุกภาคส่วนต้องยึด "มนุษย์เป็นศูนย์กลาง" (Human-Centric) โดยให้มนุษย์เป็นตัวแปรหลักในการออกแบบ ใช้งาน และกำกับดูแลเทคโนโลยี เพื่อให้ AI ไม่เพียงแค่ฉลาด แต่ยังเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ในทุกมิติด้วย"
ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นองค์กรแรกในประเทศไทยที่นำนโยบายการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI: RAI) ตามกรอบแนวทางของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) มาประยุกต์ใช้ในระดับองค์กร โดยบริษัทฯ ได้ปรับใช้แนวทาง RAI Framework ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานภายในองค์กร พร้อมทั้งวางแนวทางในการประเมินผลการดำเนินงานที่ยึดตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดการใช้ AI ที่ปลอดภัย เท่าเทียม และยั่งยืน สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับโลก
"กรอบจริยธรรม คือรากฐานสำคัญในการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้เพื่อสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืน ในโลกที่ AI ทรงพลัง การไร้กรอบจริยธรรมก็ไม่ต่างจากการขับซูเปอร์คาร์ที่ไม่มีดอกยาง ที่แม้อาจดูเหมือนพาเรามุ่งไปข้างหน้าได้เร็ว แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะพุ่งชนเมื่อใด เพราะในท้ายที่สุด…"พลัง" ย่อมไร้ความหมาย หากปราศจากการควบคุม" นายมนตรี กล่าวสรุป