วว. จับมือ ธนาคารออมสิน เสริมสร้างศักยภาพกลุ่มองค์กรชุมชน ยกระดับผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากล

ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรมการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานต้อนรับ นายณัฐวุฒิ ธรรมตานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อยและองค์กรชุมชน ส่วนพัฒนาลูกค้าองค์กรชุมชน ธนาคารออมสิน พร้อมคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานกลุ่มองค์กรชุมชน ประจำปี 2568 จำนวน 54 กลุ่มองค์กรชุมชน ในโอกาสเข้าศึกษาดูงานภารกิจ วว. ด้านการบริหารจัดการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างให้กลุ่มชุมชนเกิดแนวความคิดที่จะพัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากล พร้อมทั้งสามารถสร้างและต่อยอดเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจให้ยั่งยืน โอกาสนี้คณะผู้บริหารและบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ณ วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี

Friday 4 July 2025 09:03
วว. จับมือ ธนาคารออมสิน เสริมสร้างศักยภาพกลุ่มองค์กรชุมชน ยกระดับผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากล

นายณัฐวุฒิ ธรรมตานนท์ กล่าวว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ มุ่งเสริมสร้างให้กลุ่มองค์กรชุมชน ได้เกิดแนวความคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้า ให้ได้มาตรฐาน เพื่อนำมายกระดับอาชีพ สร้างความรู้ ความมั่นคง ให้แก่เศรษฐกิจ สังคม และชุมชนฐานราก ซึ่งธนาคารมีการพัฒนาชุมชนในระดับตำบลทั่วประเทศ ในลักษณะการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic area- based) ในจังหวัดต่าง เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เสริมสร้างความรู้ทางการเงิน ต่อยอดภูมิปัญญา ส่งเสริมช่องทางการตลา ดเพื่อสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง ผ่านการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วยหลักการ Triple Bottom Line ที่มุ่งให้เกิดผลลัพธ์ใน 3 ด้าน คือ 1) ด้าน People โดยธนาคารจะมุ่งเน้นการดำเนินภารกิจด้านสังคม ให้สามารถช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น 2) ด้าน Planet ธนาคารจะขับเคลื่อนองค์กรเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero และ 3) ด้าน Profit ธนาคารยังคงดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานด้วยกลไกการสร้างคุณค่าร่วม CSV หรือ Creating Shared Value

ดร.จิตรา ชัยวิมล กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้มุ่งเน้น 2 เป้าหมายหลัก เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานประกอบด้วย 1) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งานที่แข็งแรง ปลอดภัย และสร้างความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ดีจะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้า สร้างความแตกต่าง และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค และ2) การแปรรูปและถนอมอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยเพื่อจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยการนำผลผลิตมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพและสามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและเพิ่มรายได้เกษตรกรเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดการสูญเสียอาหารด้วย

โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับการถ่ายทอดความรู้ตาม 2 เป้าหมายหลักดังกล่าว จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญของ วว. และได้เยี่ยมชมงานบริการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) โรงงานนำทางที่มีเครื่องจักรสามารถแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ครัวแบ่งปัน Co-Working food space ซึ่งเป็นครัวที่ได้มาตรฐานการผลิตและแปรรูปอาหารในระบบ GMP ศูนย์บริการนวัตกรรมเวชสำอางแบบครบวงจร (ICOS) และโรงงานสารสกัดพืชสมุนไพร เป็นต้น

"...การจัดกิจกรรมร่วมกันของ วว. และธนาคารออมสิน จะช่วยสนับสนุน ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรม SMEs และชุมชนผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างยั่งยืน เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน พร้อมผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป..." รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรมการ วว. กล่าวสรุป