สำหรับความจำเป็นการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบัน กทม. มีตำแหน่งป้ายหยุดรถโดยสาร 5,148 ป้าย และมีศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง 2,451 หลัง ซึ่งบางพื้นที่มีกายภาพทางเท้าค่อนข้างแคบไม่สามารถก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารได้ ติดตั้งได้เฉพาะป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง และปัจจุบันป้ายหยุดโดยสารประจำทางมีข้อมูลการเดินทางค่อนข้างจำกัด และกรณีมีการเปลี่ยนแปลงสายรถเมล์จะทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เกิดความสับสนในการเดินทางส่งผลให้เกิดข้อร้องเรียนจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้รับความสะดวก และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางเป็นรูปแบบดิจิทัล ที่สามารถปรับข้อมูลสายรถเมล์ที่ผ่านป้ายได้ถูกต้องและทราบถึงระยะเวลาที่รถเมล์กำลังจะมาถึง ทำให้ประชาชนสามารถวางแผน การเดินทางและช่วยส่งเสริมทางเลือกการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้สะดวก ปลอดภัย อยู่ในระดับมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ สจส. ได้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของป้ายรถโดยสารประจำทาง อาทิ ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) พร้อมระบบ AI เพื่อตรวจจับทะเบียนรถที่กระทำกฎจราจร ตลอดจนพิจารณาแนวทางดำเนินการตามที่มีข้อสังเกตการติดตั้งไฟฟ้าแนวตั้งอาจสร้างความเดือดร้อนให้ผู้สัญจร ส่วนกรณีมีข้อกังวลจอ LED อาจจะถูกขโมย ในเบื้องต้นงบประมาณการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวไม่เพียงพอต่องบประมาณที่ได้รับจากโครงการนี้ อย่างไรก็ตาม จุดติดตั้งส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งมีกล้อง CCTV ครอบคลุมในการจับภาพผู้กระทำผิด ทั้งนี้ สจส. ได้กำชับให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความความโปร่งใส เป็นธรรม คุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ รวมถึงมาตรการติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทุกโครงการ