นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณท่อส่งน้ำมัน และเพลิงไหม้ลุกลามไปทั่วบริเวณอาคาร ทำให้เกิดกลุ่มควันสีดำ เขม่า ขี้เถ้าลอยลอยทั่วท้องฟ้าจำนวนมาก และส่งกลิ่นเหม็นทั่วบริเวณโดยรอบ ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยงในชุมชนจากเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นดังกล่าว กรมอนามัย ห่วงใยผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้ส่งทีม SEhRTศูนย์อนามัย ที่ 5 ราชบุรี ประสานภารกิจร่วมกับทีมเครือข่ายในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยดำเนินการดังนี้
1) สำรวจและประเมินความเสี่ยงสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางในชุมชนที่ได้รับสัมผัสควันไฟ เขม่า ขี้เถ้า และฝุ่นละอองที่มาจากการเผาไหม้ 2) ประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ ตรวจวัดคุณภาพฝุ่นละอองและก๊าซพิษ และสนับสนุนหน้ากากป้องกันสารมลพิษให้กับผู้ปฏิบัติงานป้องกันความเสี่ยงสุขภาพ 3) หากพบการปนเปื้อนสารพิษที่มาจากน้ำชะจากการดับเพลิง สารเคมีจากควันพิษกระจายลงในสิ่งแวดแวดล้อมที่ประชาชนรับสัมผัส เช่น ปนเปื้อนในน้ำดิบที่นำมาทำประปาหมู่บ้าน ปนเปื้อนในอาหาร พืชผักให้ทำการเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารพิษดังกล่าว และแจ้งประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้น้ำ หรือรับประทานอาหาร พืชผักที่พบการปนเปื้อนสารเคมีดังกล่าว 4) ให้คำแนะนำสถานประกอบการในการจัดการน้ำเสียที่เกิดจากการดับเพลิง โดยให้มีการจัดการน้ำขังบริเวณจุดเกิดเหตุเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย ป้องกันการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ด้านหลังโรงงานที่เกิดเหตุ และ 5) แจ้งเตือน สื่อสารความเสี่ยงการสัมผัสสารพิษ สารเคมี ควันพิษจากไฟไหม้ให้ประชาชนทราบ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือออกนอกบ้านในขณะที่ยังมีควันพิษ
นอกจากนี้ ต้องแจ้งประชาชนให้สวมหน้ากากป้องกันควันพิษ หน้ากากอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงการสูดดมสารพิษจากไฟไหม้เข้าสู่ร่างกาย และเมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ หรือไม่มีกลิ่นควันไฟ เขม่า ฝุ่นละอองแล้ว ให้เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศ ทำความสะอาดบ้าน เครื่องใช้ ที่นอน ผ้าห่ม รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ให้สะอาดทันที ไม่ให้มีสารพิษตกค้างสะสมในบ้าน
"ทั้งนี้ กรมอนามัย ขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยดูแลและป้องกันความเสี่ยงสุขภาพ โดยกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ สังเกตอาการตนเอง และครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น คันที่ผิวหนังอาการไอบ่อย ๆ หายใจลำบาก แน่นหรือเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย หรือเริ่มมีอาการปวดศีรษะ ผื่นขึ้น ให้รีบพบแพทย์ทันที" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
