วันนี้ (27 กรกฎาคม 2568) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สทนช. ลงพื้นที่ตรวจราชการบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมติดตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568
โดยในช่วงเช้าได้เดินทางไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยมีนายสุประวัติ ชยาทิกุล ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 10 นายเฉลิมพล ทองน้อย ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 11 ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2568 ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ และระบบระบายน้ำ บริเวณเขื่อนพระรามหก ประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคลองระพีพัฒน์ ประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาค ประตูระบายน้ำพระศรีศิลป์ ตำบลหนองแค อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี จากนั้นในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่บริเวณคันคลองระพีพัฒน์แยกใต้ (คันต่ำ) สถานีสูบน้ำ/ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ตามลำดับ
รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และเตรียมรับมือน้ำเหนือหลาก โดยที่ผ่านมามีการเตรียมความพร้อมไว้อย่างครอบคุมทั้งพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การวางแผนปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำและอ่างเก็บน้ำตามสถานการณ์ การเตรียมความพร้อมอาคารชลศาสตร์ โทรมาตร เครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ การตรวจสอบความแข็งแรงปลอดภัยของคันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำและเขื่อน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพทางระบายน้ำ เป็นต้น และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2568 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในวันนี้ ได้ขอให้กรมชลประทานเร่งดำเนินงานตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณคันกั้นน้ำต่ำ โดยเฉพาะคลองระพีพัฒน์แยกใต้ (คลอง 13) กม.13+400 ให้เร่งเสริมคันดินตามแนวคลองยาวประมาณ 4 กิโลเมตร รวมถึงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการรับน้ำเข้าทุ่งลุ่มต่ำ 10 ทุ่งในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการรองรับและชะลอน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ชุมชน โดยได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งส่งผลการทำประชามติการรับน้ำเข้าทุ่งให้ สทนช. เพื่อรายงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติทราบต่อไป
"การบริหารจัดการสถานการณ์น้ำหลากในช่วงฤดูฝน การจัดจราจรน้ำถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์ ซึ่งเป็นเส้นทางระบายน้ำสายหลักที่เชื่อมโยงจากพื้นที่ตอนบนของภาคเหนือและภาคกลาง เข้าสู่ลุ่มเจ้าพระยา จำเป็นต้องมีการควบคุมและบริหารจัดการการไหลของน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำตลอดแนวคลอง รวมถึงเขตชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม โดยเน้นการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด การเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ และการปรับแผนระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทางและสถานการณ์ฝนในพื้นที่ปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป" รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย