นักวิชาการติง กำหนดโควต้า "เรียกรถผ่านแอพ" สวนทางแข่งขันเสรี วอนรัฐพิจารณารอบด้านก่อนประกาศใช้

พฤหัส ๒๑ มกราคม ๒๐๒๑ ๑๖:๐๗
นักวิชาการชี้กำหนดโควต้าจำนวนคนขับเพื่อให้บริการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคลผ่านแอพพลิเคชันสวนทางแนวคิดแข่งขันเสรี ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ด้านผู้ใช้บริการห่วงจำนวนรถไม่เพียงพอต่อความต้องการ วอนรัฐอย่าปิดกั้นโอกาสทำมาหากิน ขณะที่ผู้ให้บริการแอพหนุนหาทางออกให้ทุกฝ่ายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัล เผยว่า นับเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐอยู่ระหว่างการผลักดันให้บริการเรียกรถผ่านแอพเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการทำประชาพิจารณ์ในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมองว่าเงื่อนไขและข้อกำหนดบางประการที่ระบุในร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. …. นั้นอาจไม่สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของเทคโนโลยี โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดโควต้าจำนวนรถยนต์ที่จะให้บริการ ซึ่งเป็นระบบที่สวนทางและขัดแย้งกับแนวคิดของการแข่งขันอย่างเสรี และอาจเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคตเหมือนกรณีศึกษาในต่างประเทศ อย่างฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย

"ในมุมมองของนักวิชาการ การผลักดันและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ภาครัฐจะทำงานหรือกำหนดตัวบทกฎหมายในรูปแบบเดิมไม่ได้ ควรต้องเปิดโอกาสและรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการเลือกทำอาชีพใดๆ รวมถึงกลไกตลาด และที่สำคัญ คือบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบัน ซึ่งการควบคุมแบบเดิมๆ อย่างการกำหนดโควต้าอาจจะเป็นเรื่องล้าหลังที่ถ่วงการพัฒนาของภาคธุรกิจในยุคดิจิทัล"

นายกิตติชัย กุณะวงศ์ ผู้โดยสารที่เรียกใช้บริการรถผ่านแอพ ให้ความเห็นว่า ในขณะที่ประชาชนกำลังรอให้เกิดการปฎิรูประบบขนส่งสาธารณะในประเทศ การมีแอพเรียกรถที่เข้ามาตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการสนับสนุน ทุกวันนี้เวลาที่เรียกรถผ่านแอพและได้รถบ้าน ผมก็ไม่มีปัญหา ในมุมผู้บริโภคเราให้ความสำคัญกับการได้รถทันทีในเวลาที่ต้องการเดินทางมากกว่า ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรเปิดเสรีให้บริการแบบนี้ถูกกฏหมาย และเปิดโอกาสให้คนที่สนใจหารายได้เสริมเข้ามาทำอาชีพนี้ได้อย่างเสรี

ดร.เก่งการ เหล่าวิโรจน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันเรื่องนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสร้างรายได้จากการนำรถส่วนบุคคลมาให้บริการรับจ้างสาธารณะผ่านแอพได้อย่างถูกต้อง ที่ผ่านมาแกร็บเองได้สนับสนุนนโยบายและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับภาครัฐ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากประสบการณ์การให้บริการทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดหวังให้ร่างกฎกระทรวงฯ นี้เป็นประโยชน์และสร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราได้เห็นบทเรียนจากตลาดอื่นๆ ในต่างประเทศมาแล้ว และไม่อยากเห็นความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง ทางออกที่ดีที่สุดคือการเดินหน้าต่อโดยพิจารณาถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ

ที่มา: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา