ฟิทช์ เรทติ้งส์: แผนการเข้าซื้อกิจการธุรกิจบรอดแบนด์ของ AIS ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างการเติบโต

พฤหัส ๐๗ กรกฎาคม ๒๐๒๒ ๑๖:๑๘
ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่าแผนการเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ เซอร์สิส จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โดย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการเติบโตที่ช้าลงของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ การเข้าซื้อกิจการจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับอันดับเครดิต (Rating Headroom) ของ AIS ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินของ AIS ที่อยู่ในระดับต่ำจะช่วยให้บริษัทสามารถรองรับการลงทุนในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้ และกำไรในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

AIS ประกาศในวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ว่า บริษัทได้อนุมัติให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นร้อยละ 100 เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด และเข้าซื้อหน่วยลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 19 ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF ซึ่งเป็นเจ้าของโครงข่ายไฟเบอร์ที่ TTTBB ให้บริการอยู่ จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด คิดเป็นมูลค่ารวม 3.24 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องคาดว่าธุรกรรมจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 โดยยังขึ้นอยู่กับการได้รับการอนุมัติจาก ผู้ถือหุ้นและหน่วยงานกำกับดูแล

การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ AIS ในการสร้างความแข็งแกร่งจากการให้บริการร่วมกันของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และธุรกิจบรอดแบนด์ (Fixed-Mobile Convergence) ซึ่งส่งผลให้ AIS สามารถเพิ่มการกระจายตัวของรายได้จากการให้บริการ จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่มาจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไปยังการให้บริการโทรคมนาคมอื่นๆ ได้แก่ ทีวี อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และบริการไร้สาย และเพิ่มความแข็งแกร่งของสถานะทางธุรกิจของบริษัท ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 18 หลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 6 การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะทำให้สถานะทางการตลาดของ AIS ปรับตัวดีขึ้น และกลายเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตรายใหญ่อันดับที่สองในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 15 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด ซึ่งได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 38 นอกจากนี้ TTTBB จะช่วยให้ AIS เข้าถึงลูกค้าในตลาดภูมิภาค ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ AIS มีโครงข่ายให้บริการที่จำกัด และเพิ่มความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดในพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว

ฟิทช์คาดว่าตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากสัดส่วนการให้บริการบรอดแบนอินเทอร์เน็ตต่อครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 53 ในปี 2564 การแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวมีความรุนแรงน้อยกว่า ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้าสู่ภาวะอิ่มตัว เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเข้าซื้อกิจการดังกล่าว เกิดขึ้นหลังความพยายามในการเข้าซื้อกิจการและควบรวมกิจการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจโทรคมนาคมไทยในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คู่แข่ง ซึ่งได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha) เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ) และ TRUE โดยการควบรวมกิจการดังกล่าวเกิดจากความจำเป็น ในการเพิ่มขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุน ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับต่ำ และความต้องการในการลงทุนที่สูง การแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีความรุนแรง จากการแข่งขันด้านราคาในการเสนอแพ็กเกจที่ให้ปริมาณข้อมูลแบบไม่จำกัด ซึ่งทำให้รายได้ต่อปริมาณการให้บริการด้านข้อมูลปรับตัวลดลง และทำให้อุตสาหกรรมเติบโตช้าลง

แผนการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ซึ่งจะใช้การกู้ยืมเงินเป็นแหล่งเงินทุน จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิของ AIS เพิ่มขึ้นประมาณ 0.4 เท่า โดยที่ยังไม่ได้พิจารณารวมกำไรจากสินทรัพย์ที่เข้าซื้อ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4-1.5 เท่าหลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 จาก 0.9 เท่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.8 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต ถึงแม้ว่าความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับอันดับเครดิตจะปรับตัวลดลง

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?