สมาคมประกันวินาศภัยไทย ส่งมอบธนาคารน้ำใต้ดินให้กับจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำในการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

จันทร์ ๑๙ ธันวาคม ๒๐๒๒ ๑๖:๕๑
สมาคมประกันวินาศภัยไทย ส่งมอบธนาคารน้ำใต้ดินให้กับจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำในการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ รวม 2 อำเภอ จำนวน 4,018 บ่อ
สมาคมประกันวินาศภัยไทย ส่งมอบธนาคารน้ำใต้ดินให้กับจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำในการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

สมาคมประกันวินาศภัยไทย พลิกฟื้นพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของจังหวัดร้อยเอ็ด สร้างต้นแบบการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และ ภัยน้ำท่วมให้กับชุมชน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563-2565 รวม 3 อำเภอ ได้แก่ หนองฮี สุวรรณภูมิ และเกษตรวิสัย รวม 4 ตำบล 66 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 216,527 ไร่ โดยได้จัดพิธีส่งมอบบ่อน้ำธนาคารน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ และ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จำนวน 4,018 บ่อ มูลค่า 39,417,000 บาท ให้กับจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชน และเป็นต้นแบบในการทำธนาคารน้ำใต้ดินที่สมบูรณ์แบบเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชนอื่น ๆ ของประเทศต่อไป โดยมีนายสนอง ดลประสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เกียรติเป็นประธานในการรับมอบ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ณ บ่อน้ำบ้านหนองเบ็ญ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ตามที่สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมกับ สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ โดยพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) ได้ดำเนินการจัดทำโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน (ธนาคารน้ำใต้ดิน) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องประสบกับภัยแล้งหรือน้ำท่วมซ้ำซาก ตามเจตนารมณ์ของสมาคมฯ ในการเปลี่ยนให้พื้นที่ "ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็น ทุ่งกุลายิ้มได้" โดยการจัดทำโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ขึ้นในพื้นที่ตำบลดูกอึ่งและตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด หรือที่เรียกว่าโครงการ "หนองฮีโมเดล" ซึ่งถือเป็นโครงการแรกและเป็นต้นแบบการทำธนาคารน้ำใต้ดินที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่งของไทย มีพื้นที่ดำเนินการรวม 30 หมู่บ้าน ประชากร 3,408 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 78,913 ไร่ ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและส่งมอบธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 3,095 บ่อ ให้กับจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ต่อยอดโครงการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 13 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่ 1,700 ไร่ ให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมกับจัดตั้ง "ศูนย์การเรียนรู้การจัดการน้ำครบวงจรด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน" เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการน้ำใต้ดินในพื้นที่แห้งแล้งที่อยู่นอกเขตชลประทาน และเป็น "ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงและพืชผลนอกฤดูกาลในภาคอีสาน" เพื่อให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาและขยายผลวิธีการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ให้เกิดการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพต่อไป

จากนั้นในปี 2564 สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ขยายพื้นที่ในการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้มากขึ้น โดยได้จัดทำโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ในพื้นที่ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ใช้พื้นที่ในการดำเนินงานได้ และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการฯ โดยการขุดบ่อตามหลักการธนาคารน้ำใต้ดินขนาดต่าง ๆ รวมทั้งหมด 2,473 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่ 88,862 ไร่ รวม 21 หมู่บ้าน และต่อเนื่องมาในปี 2565 ได้ขยายพื้นที่ดำเนินการเพิ่มเติมในตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 1,545 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่ 47,052 ไร่ รวม 13 หมู่บ้าน ซึ่งทั้ง 2 โครงการในพื้นที่อำเภอสุวรรณภูมิและอำเภอเกษตรวิสัย ได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว

ดังนั้นเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า สมาคมประกันวินาศภัยไทย และ สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ จึงได้จัดพิธีส่งมอบโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ และ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย ให้กับทางจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเป็นต้นแบบในการศึกษาและขยายผลต่อยอดการบริหารจัดการแหล่งน้ำ ตามระบบธนาคารน้ำใต้ดิน และมอบให้เป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชน ประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ รวมถึงเป็นต้นแบบสำหรับภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนองค์กรที่มีความสนใจให้การสนับสนุน ได้ทำการขับเคลื่อน ขยายผล และต่อยอดแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำเช่นนี้ไปใช้ในพื้นที่แห้งแล้งอื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป

นายอานนท์ วังวสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯ มีแนวคิดในการดำเนินโครงการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ประสบปัญหาทางการเกษตรเนื่องจากภัยแล้งและน้ำท่วมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการขับเคลื่อนร่วมกับชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและภัยน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน โดยการได้ใช้แนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวคิดของธนาคารน้ำใต้ดิน และได้รับความกรุณาจากพระนิเทศศาสนคุณ หรือหลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ ประธานสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ และประธานมูลนิธิสิริปัญโญ ได้อนุญาตให้สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ จัดทำโครงการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบของการพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยใช้องค์ความรู้ของท่านในการวางแผนตลอดจนดำเนินการขุดบ่อน้ำที่ถูกต้องตามหลักการธนาคารน้ำใต้ดิน ภายใต้ชื่อ "โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน" และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำธนาคารน้ำใต้ดิน

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ดำเนินการโครงการฯ แล้วเสร็จรวมทั้งสิ้น 3 อำเภอ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของจังหวัดร้อยเอ็ดทั้งหมด ได้แก่

  1. อำเภอหนองฮี มีพื้นที่ดำเนินการ ณ ตำบลดูกอึ่งและตำบลเด่นราษฎร์ รวม 30 หมู่บ้านครอบคลุมพื้นที่ 78,913 ไร่ ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 3,095 บ่อ
  2. อำเภอสุวรรณภูมิ มีพื้นที่ดำเนินการ ณ ตำบลสระคูและตำบลหินกอง (พื้นที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้) รวม 23 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 90,562 ไร่ ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 2,486 บ่อ
  3. อำเภอเกษตรวิสัย มีพื้นที่ดำเนินการ ณ ตำบลกู่กาสิงห์ รวม 13 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 47,052 ไร่ ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 1,545 บ่อ

ทั้งนี้ การดำเนินงานทั้งหมดครอบคลุมพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของจังหวัดร้อยเอ็ดไปแล้วกว่า 216,527 ไร่ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนประกันภัยพืชผล รวมทั้งสิ้นกว่า 63 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอนี้ถือเป็นศูนย์กลางของทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งจะเชื่อมโยงกันตามหลักการธนาคารน้ำใต้ดิน ทำให้เกิดแหล่งน้ำใต้ดินที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่สามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำจากภัยแล้ง และสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ ตลอดจนสร้างความสมดุลและยั่งยืนของแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค รวมถึงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ช่วยให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการจัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดินนี้ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่มุ่งเป้าไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ที่สมาคมฯ ทุ่มเทเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้เติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยไปพร้อมกัน

ที่มา: สมาคมประกันวินาศภัยไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๖ ก.ค. วว. ผนึกกำลัง มรภ.เพชรบุรี พัฒนา วทน. ด้านเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าพืชผลเกษตร-สร้างระบบนิเวศงานวิจัย
๒๖ ก.ค. กทม. แจงจ้างเหมาเอกชนซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำคลองช่องนนทรี หลังสิ้นสุดระยะเวลาค้ำประกัน
๒๖ ก.ค. ออปโป้ชวนด้อมไทยส่งข้อความสู่ Boost Your Dreams Box เตรียมต้อนรับ 3 หนุ่ม BSS สู่งาน Boost Your Dreams Together 2
๒๖ ก.ค. นนท์ ธนนท์ - อิ้งค์ วรันธร นำทัพศิลปินขี้เหงา มาฮีลใจ ชวนคนเหงาปล่อยจอย ใน LONELY LOUD FEST เปิดจองบัตร Early Bird 30 ก.ค.
๒๖ ก.ค. มะเร็งรังไข่ ภัยเงียบที่ผู้หญิงควรระวัง
๒๖ ก.ค. โก โฮลเซลล์ ปักหมุดภาคใต้สาขาแรก ราไวย์ จ.ภูเก็ต แล้ว! ลุยอาณาจักรค้าส่งวัตถุดิบอาหาร สร้างฟู้ด พาราไดซ์
๒๖ ก.ค. How to เริ่มต้นวางแผนซื้อบ้าน/คอนโดฯ อย่างไรให้มั่นใจยุคดอกเบี้ยสูง
๒๖ ก.ค. โรบินสันไลฟ์สไตล์ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ฉลองเทศกาลวันแม่ ส่งแคมเปญ ชวน ฮักแม่ ด้วยภาษารัก
๒๖ ก.ค. เลือกฟิล์มติดกระจกออฟฟิศยังไงให้คุ้มค่าในระยะยาว ?
๒๖ ก.ค. 5 เคล็ดลับเลือก Clinic เสริมความงาม ที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน