ttb analytics คาดธุรกิจบริการดิจิทัลปี 2566 โตแตะ 5.6 แสนล้าน แรงหนุนจากกระแสบริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล แนะธุรกิจปรับตัวนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้ตรงตามความต้องการส่วนบุคคล

ศุกร์ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๖ ๑๗:๑๔
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินธุรกิจบริการดิจิทัลในปี 2566 มีมูลค่าถึง 5.6 แสนล้านบาทเติบโตกว่า 20% จากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นออนไลน์มากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 เร่งให้เกิดการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเร็วมากขึ้นและมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แนะธุรกิจปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI มาประยุกต์ใช้ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจการบริการให้ครบวงจร
ttb analytics คาดธุรกิจบริการดิจิทัลปี 2566 โตแตะ 5.6 แสนล้าน แรงหนุนจากกระแสบริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล แนะธุรกิจปรับตัวนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้ตรงตามความต้องการส่วนบุคคล

ปัจจุบันธุรกิจบริการดิจิทัล (Digital Services) เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนและเป็นขั้นตอนกระบวนการสำคัญของภาคธุรกิจมากขึ้นอย่างชัดเจน ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในด้านการสื่อสาร แต่ยังกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้เชื่อมโยงกันได้ทั่วโลก โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจบริการดิจิทัลในประเทศมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง ผลจากการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันธุรกิจบริการดิจิทัลของไทยในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล รองรับธุรกรรมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ตั้งแต่การทำธุรกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันผ่านระบบออนไลน์ โดยในปี 2564 มีธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่ 1) บริการสื่อบันเทิงออนไลน์ (Online Media) มูลค่าตลาด 1.3 แสนล้านบาท หรือสัดส่วน 38% 2) บริการขนส่ง E-Logistics มูลค่าตลาด 9 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 26% 3) บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (E-Retail หรือที่รู้จักคือ E-Commerce) มีมูลค่าตลาด 5.9 หมื่นล้านบาท สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 17% และ 4) บริการอื่น ๆ มีมูลค่า 6.5 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 19% เช่น บริการด้านการศึกษาออนไลน์ และบริการด้านสาธารณสุข/สุขภาพออนไลน์ (E-Health)

โดยสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ถือเป็นช่วงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ช่วยผลักดันบริการดิจิทัลในภาพรวมเติบโตกว่า 36% จากการที่ผู้ประกอบการนำกลยุทธ์ Digital Transformation มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเต็มตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องพึ่งพาการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการปรับตัวและมีความคุ้นเคยกับการใช้บริการธุรกิจบริการดิจิทัลจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2565 คนไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 3.4% ทำให้ปัจจุบันระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 78% ของประชากรทั้งหมด อีกทั้งยังมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันถึงกว่า 9 ชั่วโมง สูงเป็นอันดับ 7 ของโลกที่มีค่าเฉลี่ยราว 7 ชั่วโมงต่อวัน

ปัจจุบันธุรกิจบริการดิจิทัลที่มีรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าเป็นหลัก มีอัตราการเติบโตของรายได้มากกว่ากลุ่มที่ทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลอื่น ๆ กว่า 2 เท่า โดยพบว่าธุรกิจบริการดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายมีการเติบโตต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจ E-Logistics และ E-Retail ที่เติบโตได้ 58% และ 44% ในปี 2564 ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานมีการซื้อสินค้าและการใช้บริการออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ส่วนธุรกิจบริการดิจิทัลที่มีรายได้มาจากแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลอื่น ๆ พบว่ามีอัตราการเติบโตที่แผ่วลง เช่น ธุรกิจ Online Media มีการเติบโตในปี 2564 ราว 28% มีรายได้หลักมาจากสื่อโฆษณาออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เช่น Facebook และ YouTube โดยในปี 2565 สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยได้สูงถึง 92% และ 79% ตามลำดับ ถือเป็นอัตราการเข้าถึงที่สูง

อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นทิศทางการเติบโตอย่างรวดเร็วในบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (E-Health) ถึงแม้ปัจจุบัน E-Health จะยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่น้อย แต่มีการเติบโตของรายได้ในปี 2564 ก้าวกระโดดกว่า 50% จากการที่ผู้ให้บริการเริ่มหันมาสนใจให้บริการด้านสุขภาพกันมากขึ้น อาทิ ระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) กอปรกับ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) คือการมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปในสัดส่วนมากกว่า 20% ในอีก 8 ปีข้างหน้า

จากมูลค่าตลาดธุรกิจดิจิทัลในภาพรวมราว 4.5 แสนล้านบาทในปี 2565 ttb analytics คาดว่าในปี 2566 นี้ ธุรกิจบริการดิจิทัลยังมีแนวโน้มเติบโต 24% มูลค่าอยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท จากการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีด้านดิจิทัลส่งผลกระทบด้านบวกต่อภาคธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้มีการพัฒนาต่อยอดบริการดิจิทัลใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เป็นลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจบริการดิจิทัลทั่วโลกที่มีการเติบโตเฉลี่ยกว่า 34% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ E-Logistics และ E-Retail แม้ว่าจะมีสัดส่วนรายได้มากกว่า 43% แต่ธุรกิจมีการแข่งขันค่อนข้างสูง และยังมีการทุ่มงบประมาณด้านการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้า ในขณะที่กลุ่มแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลอื่นๆเป็นกลุ่มที่ยังคงมีการเติบโตในระดับสูง

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจบริการดิจิทัลควรมีการปรับตัว เพื่อเตรียมรองรับการขยายตัวของธุรกิจบริการดิจิทัลและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ภายใต้แรงกดดันด้านกำไรที่ลดน้อยลงตามกระแสธุรกิจโลก โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ เช่น นำระบบ AI มาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูล ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลจากคำถามและพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อผู้ใช้บริการได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อผู้ใช้บริการ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เชื่อมการบริการของธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้ครบวงจร เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและสร้างความพึงพอใจให้ผู้บริโภค

ที่มา: ธนาคารทหารไทยธนชาต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ มี.ค. OCEAN LIFE ไทยสมุทร เชื่อมสัมพันธ์โรงพยาบาลเครือข่าย ร่วมส่งมอบบริการสุขภาพชั้นเลิศให้ลูกค้า ผ่านกิจกรรม OCEAN LIFE CHANGE THE WORLD WITH LOVE
๓๑ มี.ค. เปิดเวที แสดงมุมมองของภาคธุรกิจ โดยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
๓๑ มี.ค. ทีมพืชอวกาศ ม.พะเยา รับมอบ ต้นราชพฤกษ์อวกาศ จากโครงการราชพฤกษ์อวกาศ Asian herb in space
๓๑ มี.ค. เปิดรับสมัครการอบรม หลักสูตร ผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายทางการเกษตร ปี 2566 มีใบประกาศนียบัตรสามารถนำไปต่อใบอนุญาตได้
๓๑ มี.ค. TASCO ได้รับการต่ออายุสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2
๓๑ มี.ค. เอพี คว้ารางวัล บริษัทและแบรนด์อสังหาฯ อันดับ 1 ที่คนไทยเชื่อถือมากที่สุด
๓๑ มี.ค. ดั๊บเบิ้ล เอ เปิดบ้านต้อนรับคณะจาก ASEAN FORESTRY DEAN FORUM
๓๑ มี.ค. NDBS Thailand ขอบคุณ Exotic Food กับการเลือกใช้ SAP S/4HANA จาก NTT Data Business Solutions
๓๑ มี.ค. แจ็คกี้ ชาเคอลีน นักแสดงสาวมั่น อารมณ์ดี คว้าพรีเซ็นเตอร์ชวาร์สคอฟ (Schwarzkopf) แชมพูปิดผมขาวคุณภาพสูง มอบ 3 เฉดสีสวยแบบมือโปร
๓๑ มี.ค. กทม.ประสาน NT ดูแลความปลอดภัยขณะก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายใต้ดินบริเวณ MRT ท่าพระ