กลอย "กรรวี สกลทัศน์" รุ่นใหม่ หัวใจนักพัฒนา

พฤหัส ๓๐ มีนาคม ๒๐๒๓ ๐๙:๔๕
"คนรุ่นใหม่" กับวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นวิถีที่หลายคนกำลังสนใจ และ กลอย  "กรรวี สกลทัศน์" คือตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านนี้ ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทฟาร์มรักษ์ ฟอร์เอฟเวอร์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และกลอยในฐานะ LFC 12 ยังนำหลักคิด "สัมมาชีพ" ไปส่งต่อ
กลอย กรรวี สกลทัศน์ รุ่นใหม่ หัวใจนักพัฒนา

กลอยในวัย 25 เล่าว่า เมื่อครั้งที่เป็นนิสิตจบใหม่ (ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม พระจอมเกล้าฯ บางมด)  เธอยังไม่รู้จักคำว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม คืออะไร มีแนวทางการทำงานอย่างไร แต่เป็น "ภาคบังคับ" ที่ต้องทำความรู้จัก เมื่อพ่อ (นาวาตรีสถาพร สกลทัศน์) อดีตนายทหารเรือที่ผันตัวเองมาทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชน ได้จัดตั้งบริษัทฟาร์มรักษ์ ฟอร์เอฟเวอร์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ขึ้น

เธอจึงต้องเข้ามาช่วยทำงานและซึมซัมแนวทางของวิสาหกิจเพื่อสังคม จากโครงการที่หนึ่ง สู่โครงการที่สอง โครงการที่สาม ฯลฯ จนขณะนี้กลอยมีถึง 9 โครงการให้ดูแล

ที่สุดเธอก็เข้าใจถ่องแท้ว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาสังคมปัจจุบันได้ โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของคนในชุมชน และการทำงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมก็ไม่ได้มุ่งกำไรสูงสุด แต่ให้เลี้ยงตัวเองได้ตามหลักสัมมาชีพ ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม

"กลอยอยากให้ทุกคนได้รู้จักวิสาหกิจเพื่อสังคมมากขึ้น เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมจริงๆ ไม่ได้เอาเรื่องของผลประโยชน์ การค้ากำไรสูงสุดมาสอดไส้  วิสาหกิจเพื่อสังคมนี่แหละที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหารายได้ครัวเรือน และปัญหาอื่นๆ เพียงแต่ต้องใช้ให้ถูกและใช้ให้เป็น

คนที่ทำต้องเข้าใจ และต้องมองผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน"

นอกเหนือจากการบ่มเพาะของครอบครัวแล้ว กลอยยังมีโอกาสได้เข้าอบรมหลักสูตร "ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง" หรือ Leadership for Change ของมูลนิธิสัมมาชีพในรุ่น 12 ซึ่งมีจุดยืนของแก่นคิดในแนวทางเดียวกัน

กลอยบอกว่า จุดเด่นของหลักสูตรนี้ คือ ความต้องการสร้างสัมมาชีพที่ยั่งยืนให้กับสังคม รายจ่ายต้องน้อยกว่ารายได้ ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ซึ่งนั่นแสดงว่า หลักสูตรนี้ไม่ได้ต้องการแค่เรื่องสัมมาชีพที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่กำลังช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ฝุ่น PM 2.5  

"สิ่งที่ได้รับจากการเข้าอบรมหลักสูตรนี้ คือ ความเป็นเพื่อนที่จะช่วยเหลือกัน เหมือนกับได้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ร่วมกันทำงาน เพื่อที่จะพัฒนาชุมชน สังคมรอบข้างให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม  นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน

เมื่อคนที่มีเป้าหมายเดียวกันมารวมตัวกันในหลักสูตรนี้ ถ้าสามารถทำงานร่วมกันได้ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ และก่อให้เกิดสัมมาชีพในทุกๆ พื้นที่ได้" เธอมองอย่างนั้น

บริษัทฟาร์มรักษ์ ฟอร์เอฟเวอร์ฯ ของกลอยเอง ก็กำลังเดินไปในทิศทางดังกล่าว เธอบอกว่า บริษัทมุ่งแก้ปัญหาปากท้องผู้คนผ่านโครงการต่างๆ เป็นอันดับแรก เพราะจากประสบการณ์การทำงานแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พบว่า สาเหตุที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่เคยหายไป และคนที่มาร่วมแก้ไขมีน้อยเกินไป เพราะคนไทยส่วนใหญ่ ยังมีปัญหาเรื่องปากท้อง

"การจะให้ชาวบ้านมาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเวลาของเขาหมดไปกับการหาเช้ากินค่ำ ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้องก่อน ถึงจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้"

จากแนวทางดังกล่าวทำให้ 9 โครงการที่บริษัทดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้องคนในชุมชน พร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการมัจฉาสตรีท ที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ซึ่งนำซากรถเมล์ไปวางใต้ทะเลเพื่อจำลองระบบนิเวศให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ (บ้านปลา) ตามมาด้วยโครงการโรงรับจำนำปู ในพื้นที่อ่าวปะทิว โดยเป็นโครงการต่อเนื่องในการสร้างแหล่งอาหารให้สัตว์น้ำที่อยู่อาศัยในบ้านปลา

เป็นการเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าว ทำให้ประมงพื้นบ้านมีรายได้ดีขึ้น  ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก

โครงการรวมพลคนปลูกผัก (เอาผักมาเอาปลาไป) ที่บ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการเชื่อมโยงกับ 2 โครงการแรก โดยนำปลาที่จับได้มากขึ้นไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผู้ปลูกผัก ในโครงการรวมพลคนปลูกผัก (เอาผักมาเอาปลาไป) ทำให้คนในพื้นที่ภาคใต้ได้บริโภคผักทางเหนือ ขณะเดียวกันก็ทำให้คนภาคเหนือมีรายได้และยังแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีน เนื่องจากไม่ค่อยได้บริโภคปลาทะเล

โครงการมาลากาแฟ ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับโครงการรวมพลคนปลูกผักฯ เป็นโครงการส่งเสริมคนบนดอยปลูกและแปรรูป-จำหน่ายกาแฟเพื่อสร้างรายได้ และเป็นการอนุรักษ์ป่าไปในตัว เพราะต้นกาแฟซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักต้องปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่จึงจะงอกงาม    

 โครงการล่าสุด Forest Voice/ป่าลั่น เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนบ้านผาหม่น อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ให้กลายเป็นบ้านผาสุข  ได้แก่ การพัฒนาสุขลักษณะที่ดี "กินดี อยู่ดี ขี้คล่อง" การสร้างสัมมาอาชีพที่ยั่งยืนจากกาแฟ การสร้างองค์ความรู้และการศึกษาที่ทั่วถึง และการก้าวทันเทคโนโลยี รวมถึงการป้องกันไฟป่า (สนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่กลุ่มดับไฟชาติพันธุ์บนดอยสูง) เป็นต้น

นี่เป็นตัวอย่างโครงการที่คนรุ่นใหม่เช่นเธอ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และอยากชวนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมกันทำงานด้านนี้คนละไม้คนละมือ  

"กลอยมีโอกาสที่จะลงมือทำงานวิสาหกิจเพื่อสังคม ก็จะทำต่อไปให้ดี และอยากบอกเพื่อนคนอื่นๆ ว่า หากมีโอกาสจะแค่เสี้ยววินาทีที่ได้ทำงานช่วยเหลือสังคม ชุมชน ก็อยากให้เข้ามาช่วยกัน มันอาจจะเป็นการกระทำที่เล็กมาก จนหลายคนคิดว่าไม่ได้ช่วยอะไร แต่จริงๆ แล้ว มันมีผลต่อชาวบ้านและกำลังใจคนทำงานด้านนี้"

อ่านรายละเอียดหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 ได้ที่ http://rb.gy/zfcwkn

ที่มา: มูลนิธิสัมมาชีพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๒๙ ม.กรุงเทพ เห็นถึงคุณค่าพลังงานที่ยั่งยืนเชิญผู้เชี่ยวชาญมาสร้างสกิลตรง
๑๖:๐๗ แอลจีเผยผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2024 ผลักดันธุรกิจด้วยนวัตกรรมพร้อมรักษาสมดุลระหว่างธุรกิจหลักและการเติบโตในอนาคตเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ
๑๖:๓๕ ฮั้วฟง รับเบอร์ฯ (HFT) จัดประชุมผู้ถือหุ้นปี 2567 ผถห.โหวตผ่านฉลุยทุกวาระ
๑๖:๕๒ ซีเอ็ด เปิดสาขาใหม่ที่ตราด! บริจาคหนังสือ 2 แสนบาท หนุนการอ่านในท้องถิ่น
๑๖:๕๙ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ทั้งปีที่อัตราหุ้นละ 0.52
๑๖:๕๙ ปรับการนอนหลับของคุณให้มีคุณภาพดีขึ้นด้วยฟีเจอร์ใน HUAWEI Band 9
๑๖:๓๔ ไฮเออร์ ประเทศไทย โชว์ศักยภาพแกร่ง พาเหรดทัพนวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ร่วมจัดแสดงในงาน China Enterprise Product Resources
๑๖:๑๐ สถานทูตอิตาลี เปิดศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าแห่งใหม่ในกรุงเทพ
๑๖:๕๒ CHAYO จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ไฟเขียวทุกวาระ
๑๖:๑๓ ผู้บริหารบางจากฯ แชร์แนวทางขับเคลื่อนการรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 2 เวที