ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง ที่ 'A(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

พฤหัส ๓๐ มีนาคม ๒๐๒๓ ๑๖:๓๔
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC ที่ 'A(tha)' อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ 'A(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ 'F1(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ SCCC ในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์ขนาดเล็กในระดับภูมิภาค ซึ่งมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในประเทศที่เป็นตลาดหลัก โดย SCCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยและเวียดนามตอนใต้ และผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศศรีลังกา

ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถรักษาสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง และสร้างกระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow, FCF) เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2 เท่า ในปี 2567 จาก 2.3 เท่า ในปี 2566 และปี 2565 จากการปรับตัวดีขึ้นของกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เนื่องจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่ลดลง

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
EBITDA ยังคงทรงตัว - ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCCC จะคงอยู่ที่ระดับเดิมที่ 6.5-7 พันล้านบาทในปี 2566 (ปี 2565 อยู่ที่ 6.9 พันล้านบาท) เนื่องจากการฟื้นตัวของกำไรจากการดำเนินงานในประเทศไทย จะถูกลดทอนจากกำไรจากการดำเนินงานจากประเทศเวียดนาม และศรีลังกาที่ปรับตัวลดลง ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ SCCC จะเติบโตในระดับประมาณร้อยละ 2-5 ในช่วงสองปีข้างหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศไทย อัตราส่วนกำไรจากดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) จะยังคงได้รับแรงกดดัน และอยู่ในระดับร้อยละ 12-13 ในปี 2566 (ปี 2565: ร้อยละ 13.7, ปี 2564: ร้อยละ 17.9) เนื่องจากการปรับราคาขายน่าจะยังไม่สามารถชดเชยต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าอัตราส่วนกำไรของ SCCC จะยังคงได้รับประโยชน์จากมาตรการการลดต้นทุนต่างๆ ของบริษัทฯ เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งในด้านราคาและปริมาณสำหรับวัตถุดิบหลัก การบริหารต้นทุนคงที่ การลดสัดส่วนการใช้ปูนเม็ด และการใช้พลังงานทดแทน

การฟื้นตัวที่แตกต่างกันในแต่ละตลาด - กระแสเงินสดจากการดำเนินงานส่วนใหญ่ของ SCCC มาจากธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนที่เหลือส่วนใหญ่มาจากธุรกิจในประเทศเวียดนามและศรีลังกา ฟิทช์คาดว่าการฟื้นตัวของผลประกอบการในประเทศไทยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของทางภาครัฐฯ ที่น่าจะฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากการก่อสร้างภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของภาวะเศรฐกิจ นอกจากนี้ การปรับราคาขายอย่างต่อเนื่องโดยผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศไทย น่าจะทำให้ธุรกิจมีกำไรดีขึ้นในปี 2566

ฟิทช์คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไทยที่มากขึ้น จะถูกลดทอนจากความท้าทายที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนาม จาก เกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เข้มงวดขึ้น และการตรวจสอบของภาครัฐฯ ต่อการออกหุ้นกู้ ที่จะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยชะลอตัว และกดดันความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ กำไรจากธุรกิจของ SCCC ในประเทศศรีลังกา น่าจะหดตัวลงอย่างมากในปี 2566 เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ถึงแม้ว่ามาตรการห้ามนำเข้าปูนเม็ด ที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนปูนซีเมนต์ในประเทศ จะช่วยลดทอนผลกระทบต่อปริมาณการขายของ SCCC ในประเทศศรีลังกา เนื่องจาก SCCC สามารถผลิตปูนเม็ดเองได้บางส่วน

ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ไม่มากนัก - ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในปี 2566 น่าจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.6 พันล้านบาท (ปี 2565: 1.9 พันล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เพื่อการบำรุงรักษา และเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงาน ซึ่งรวมถึงโครงการลดสัดส่วนการใช้ปูนเม็ดในกระบวนการผลิตในประเทศไทย และเวียดนาม SCCC ยังคงมีแผนเพิ่มกำลังการผลิต ถึงแม้ว่าแผนดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุมัติ และไม่น่าจะเริ่มโครงการก่อนสิ้นปี 2566 ฟิทช์เชื่อว่า SCCC จะดำเนินนโยบายเพื่อการรักษาสถานะทางการเงิน โดยไม่มีการลงทุนขยายกำลังการผลิตขนาดใหญ่ หรือการเข้าซื้อกิจการ ก่อนที่อัตราส่วนหนี้สินจะลดลงต่ำกว่าระดับ 2.3 เท่า

อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลง; กระเงินสดสุทธิเป็นบวก - ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ของ SCCC จะคงอยู่ที่ระดับเดิมที่ประมาณ 2.3 เท่า ในปี 2566 และลดลงมาที่ 2 เท่า ในปี 2567 เนื่องจากหนี้สินสุทธิที่ลดลง เนื่องจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่ลดลง จากการเติบโตของรายได้ที่ช้าลง อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 เท่า ในปี 2565 จาก 2.1 เท่าในปี 2564 เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น จากรายได้ที่เติบโตอย่างมากที่ร้อยละ 20 จากความต้องการที่ฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส SCCC มีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นในปี 2565 และฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะยังคงมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

สถานะทางการตลาดและการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ - SCCC สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาดและมีการแข่งขันภายในประเทศที่รุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยชื่อเสียงของตราสินค้าของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้า นอกจากนี้ SCCC ยังเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดและผู้ผลิตปูนเม็ดเพียงรายเดียวในประเทศศรีลังกา และเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเวียดนามตอนใต้ ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่มากขึ้น รายได้จากต่างประเทศ (รวมรายได้จากการส่งออก) คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมดในปี 2565

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
SCCC มีสถานะทางธุรกิจอ่อนแอกว่า บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (อันดับเครดิตปัจจุบัน 'A+(tha)' แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศเช่นเดียวกัน เนื่องจาก SCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และทางธุรกิจที่มากกว่า สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าของ SCC ส่งผลให้ SCC ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCCC หนึ่งอันดับ แม้ว่า SCCC จะมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า

SCCC มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกับสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน แต่มีอันดับเครดิตสูงกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย

SCCC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนไหวต่อวัฏจักรขาลงทางเศรษฐกิจมากกว่า SCGP และ GPSC เนื่องจาก SCCC มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ SCGP ดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่ความต้องการซื้อจากลูกค้ามีความสม่ำเสมอมากกว่า และมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้มากกว่า SCCC ดังนั้น SCGP จึงสามารถรองรับอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า SCCC ได้ในอันดับเครดิตระดับเดียวกัน GPSC มีอัตราส่วนหนี้สินสูงกว่า SCCC มาก หลังจากการลงทุนเข้าซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้สถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของ SCCC ที่ 1 อันดับ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2-5 ต่อปี ในปี 2566-2567 เนื่องจากการปรับขึ้นของราคาขายและการฟื้นตัวของความต้องการซื้อในประเทศไทย
  • EBITDA margin อยู่ที่ระดับเดิมที่ ร้อยละ 12-13 ในปี 2566-2567
  • ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนรวม 3.6 พันล้านบาท ในปี 2566-2567
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ในระดับร้อยละ 75-85

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:

  • ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจาก SCCC มีขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า

ปัจจัยลบ:

  • การที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือการมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนโดยใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ในระดับสูง รวมถึงการจ่ายเงินปันผลจำนวนมาก ส่งผลให้ EBITDA net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 2.3 เท่า อย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี: SCCC มีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2566 จำนวน 2.6 พันล้านบาท สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 3.4 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินประเภทไม่สามารถยกเลิกได้ (Committed credit facilities) จำนวน 9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินเพื่อชำระคืนหนี้สินเดิม (Refinancing ability) ที่แข็งแกร่ง เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ใหม่ผ่านตลาดทุนและสถาบันการเงินของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่ง

ข้อมูลบริษัท
SCCC มีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์รวม 25.3 ล้านตันต่อปี ในประเทศไทย ศรีลังกา และเวียดนาม SCCC ยังถือหุ้นร้อยละ 40 ในกิจการร่วมค้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีกำลังการผลิตปูนเม็ดจำนวน 1.7 ล้านตันต่อปี

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ ต.ค. Amarin Baby Kids Awards 2024 มอบรางวัลแก่สุดยอดแบรนด์เพื่อแม่ลูก ปีที่ 6
๒๒ ต.ค. รวมก๊วนสัตว์ป่วนสุดน่ารัก มาบุกหัวหินแย้ว!! PET FRIEND HUAHIN 2024
๒๒ ต.ค. หมูสองชั้นหมูกระทะ หมูกระทะบุฟเฟต์ห้องแอร์ 219.- บาท เจ้าแรกในเมืองไทย! เปิดตัวสาขาใหม่ ที่ The Prom ดินแดง พร้อมคอนเซ็ปต์ Have Fun ยันหว่าง ตั้งแต่เที่ยงวัน ยันตี
๒๒ ต.ค. สพร.42 หนองคาย จัดประชุมเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 42 หนองคาย ครั้งที่ 1/2568
๒๒ ต.ค. สสก.2 จ.ราชบุรี ประชุมขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันตก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1
๒๒ ต.ค. ซีอีโอ - บมจ. ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย รับโล่เชิดชูเกียรติ บุคคลคุณภาพแห่งปี 2024
๒๒ ต.ค. แอสเซทไวส์ ต้อนรับ เฟม ชุติพงศ์ Mister International Thailand 2024 สู่ 'AssetWise Family' ส่งมอบคอนโดแต่งครบพร้อมอยู่ โครงการ แอทโมซ โฟลว์
๒๒ ต.ค. ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาล D?a de los Muertos สไตล์เม็กซิกัน ณ เม็กซิกาโน่ เรสเตอรองท์ ออเทนติโก้ โรงแรมแรมแบรนดท์
๒๒ ต.ค. Beam สตาร์ทอัพฟินเทคไทย ปิดจุดอ่อนระบบรับชำระเงินด้วยภารกิจ สร้างการชำระเงินที่ง่ายที่สุด สร้างรายได้ปีละ 100 ล้านใน 3 ปี พร้อมมุ่งสู่วิสัยทัศน์ The World's Simplest Ways to
๒๒ ต.ค. ขอบคุณความเชื่อมั่นที่มีต่อ 'ฮอนด้า เอชอาร์-วี อี:เอชอีวี ใหม่' ด้วยยอดจองสิทธิ์กว่า 3,000 คัน ตอกย้ำความเป็นรถ SUV