รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วเมืองและบนถนนหลายเส้นทาง ซึ่งมักเกิดอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้างรูปแบบต่างๆ บ่อยครั้ง นำความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จากเหตุการณ์น่าเศร้าสลดที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 พ.ค. 2566 อุบัติเหตุชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตสำเร็จรูป (Segment) ขนาดใหญ่หล่นลงบนถนนพระรามที่ 2 ตรงจุดเกิดเหตุบริเวณเกาะกลางถนน โครงการทางด่วนพระราม 3 มีชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตน้ำหนักหลายตัน ขนาดยาวประมาณ 10 เมตร หล่นลงกระแทกพื้นถนนและทับคนงานก่อสร้างเสียชีวิต สาเหตุอยู่ระหว่างการสอบสวน คาดว่าความเป็นไปได้อาจเกิดจาก บาร์ที่ใช้ยึด (Hanging Bar) ระหว่างชุด Lifting Frame ขาด ทำให้คนงานที่กำลังยึดเกี่ยวสลิงอยู่บนคานร่วงลงมาพร้อมกับชิ้นส่วนสะพานคอนกรีต การใช้เครื่องจักรในการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากในพื้นที่ที่มีผู้คนและยวดยานสัญจรไปมาตลอดเวลานั้น จำเป็นต้องใส่ใจดูแลความปลอดภัยตามหลักวิศวกรรมความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
อุบัติเหตุจากตัวชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตสำเร็จรูปขนาดใหญ่ที่แขวนไว้เพื่อที่จะเตรียมทำเป็นทางด่วนยกระดับหล่นลงมา ถ้าเรามีมาตรการทางวิศวกรรมและการจัดการความปลอดภัยที่ดีพอ อุบัติเหตุต่างๆ จะไม่เกิด รวมทั้งการให้ความรู้แก่ผู้รับเหมาและผู้ประกอบการเพื่อคำนึงถึงความสำคัญของความปลอดภัยและการบริหารจัดการไซต์งานก่อสร้าง ความรับผิดชอบต่อคนทำงาน ชุมชนและประชาชนผู้สัญจร ทางด้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงได้พัฒนาองค์ความรู้ให้นักศึกษาที่กำลังจะก้าวเป็นวิศวกรคนรุ่นใหม่ตระหนักและเรียนรู้ถึงมาตรการความปลอดภัยทางวิศวกรรมโยธาเป็นสำคัญ โดยจะได้รับการฝึกอบรมตั้งแต่ปีที่ 3 เรื่อง Safety First เพื่อให้ได้เรียนรู้ถึงอันตรายประเภทต่างๆ และการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นในไซต์งานก่อสร้างและชุมชนที่แวดล้อม ได้ฝึกฝนพื้นฐานการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย ทั้งตัวอย่าง หลักการทางวิศวกรรม และหลักการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัย เพราะทุกชีวิตมีคุณค่า จึงต้องขจัดจุดเสี่ยงและดูแลทุกๆ คนอย่างดีที่สุด ทำเมืองของเราให้เป็นเมืองปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับทุกคน
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี สรุปท้ายว่า สจล. มีข้อเสนอแนะเพื่อความปลอดภัย ควรยกเครื่องระบบความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขเชิงมาตรการและแนวทางป้องกัน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในทุกโครงการก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีการจราจรและประชาชนสัญจรไปมา ทั้งโครงการในปัจจุบันและในอนาคต ผู้รับเหมาต้องตรวจสอบชุดอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างที่อาจชำรุด และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องก่อนลงมือปฏิบัติงาน จัดให้มีการปิดกั้นช่องทางจราจรให้ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างอันตรายขณะดำเนินการก่อสร้าง สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนควรหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางที่มีการก่อสร้าง หรือหากจำเป็นควรสังเกตความผิดปกติขณะขับผ่านพื้นที่ก่อสร้าง
ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น