มช.-กรมอุทยานฯ ค้นพบกระดังงา "ระฆังอัครา" เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พฤหัส ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ ๑๘:๑๒
หลังสร้างความฮือฮาในการค้นพบบุหงาลลิษา ล่าสุด ผศ. ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงการค้นพบพบพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงาจากจังหวัดกระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Miliusa majestatis Damth., Sinbumr. & Chaowasku โดยคำระบุชนิด "majestatis" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง "พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ" ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา และมีชื่อไทยว่า "ระฆังอัครา"
มช.-กรมอุทยานฯ ค้นพบกระดังงา ระฆังอัครา เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการวิจัย "อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annocaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน" ร่วมกับ น.ส.อานิสรา ดำทองดี นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ นายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนักวิจัยอีกหลายท่าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

ผศ. ดร.ธนวัฒน์เผยว่า ระฆังอัครามีลักษณะเด่น คือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 5 เมตร ดอกมีรูปร่างคล้ายระฆัง กลีบดอกชั้นในคอดรัดและมีช่องเปิดขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ระหว่างโคนกลีบดอกชั้นในที่ติดกัน กลีบดอกชั้นในที่อยู่ส่วนล่างของการคอดรัดมีสีเหลืองอมเขียว ส่วนกลีบดอกชั้นในที่อยู่ส่วนบนส่วนมากมีสีแดงม่วงเข้มอมน้ำตาล โคนกลีบมีเนื้อเยื่อโปร่งแสง ทำให้แสงส่องผ่านได้ เวลาออกดอกจะออกพร้อมกันทำให้ดูสวยงามเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ระฆังอัคราขึ้นอยู่ริมสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันนอกเขตอนุรักษ์ ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะถูกแผ้วถางในอนาคต จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันวางแผนการอนุรักษ์พืชชนิดนี้มิให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลก นอกจากนี้จะต้องศึกษาสารทุติยภูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพจากต้นระฆังอัครา เพื่อการใช้ประโยชน์ทางเภสัชศาสตร์ โดยจากรายงานการศึกษาก่อนหน้าพบว่าพืชชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกันเป็นพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจ โดยเฉพาะฤทธิ์ต้านมะเร็ง อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปลูกเลี้ยงค่อนข้างง่ายและมีดอกสวยงาม

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

มช.-กรมอุทยานฯ ค้นพบกระดังงา ระฆังอัครา เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๘ ธ.ค. ยูโรแบงก์ แอสเซ็ท แมเนจเมนท์ เอ็มเอฟเอ็มซี ทุ่มเม็ดเงินลงทุนในมินตัส
๐๘ ธ.ค. บลจ.กรุงศรี เปิดตัว KFTHAIESG โอกาสสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน เติบโตไปกับหุ้น ESG
๐๘ ธ.ค. ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ชี้เทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คลื่นความท้าทายลูกใหม่ที่ธุรกิจอสังหาฯ ต้องพร้อมรับมือในปี
๐๘ ธ.ค. ไทยยูเนี่ยนเปิดโรงงานต้อนรับรัฐมนตรีแรงงานพม่าและคณะ พร้อมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ด้านแรงงาน ในฐานะองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน
๐๘ ธ.ค. ยูโอบีจับมือฉางอาน หนุนขยายตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วอาเซียน
๐๘ ธ.ค. Roborock เปิดตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัจฉริยะรุ่นใหม่ Roborock Q Revo MaxV พร้อมโปรโมชั่นพิเศษเฉพาะ 12.12 นี้เท่านั้น
๐๘ ธ.ค. GoCheck: นวัตกรรมการตรวจวัดสารพันธุกรรมโรคหนองในแท้แบบรู้ผลเร็วใน 15 นาที รางวัลประกาศเกียรติคุณผลงานประดิษฐ์คิดค้น วช. ปี พ.ศ.
๐๘ ธ.ค. บริษัท N15 Technology ได้รับเชิญบรรยายหัวข้อการคัดแยกขยะและการสร้างคุณค่าสู่พลังงานทดแทน ให้กับวิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล ในงาน Happy green
๐๘ ธ.ค. IN2IT มอบกระเช้าดอกไม้ร่วมแสดงความยินดี EVEANDBOY ฉลองเปิดสาขาเอ็มสเฟียร์ (EMSPHERE)
๐๘ ธ.ค. เคทีซีผนึกกรมบังคับคดีลงพื้นที่อยุธยาและชลบุรี จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี ครั้งที่ 4/2566