"ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากค่ำคืนลอยกระทงก็คือ เรื่องของการจัดการปริมาณกระทงที่จัดเก็บและที่จัดเก็บไม่หมดจะกลายเป็นขยะจำนวนมาก ส่วนเรื่องปัญหาน้ำเสียถือว่าไม่ได้เป็นปัญหาหลักของการลอยกระทง เพราะปัญหาน้ำเน่าเสียสาเหตุหลักคือการใช้น้ำของกิจกรรมผู้คน ดังนั้นหากพูดถึงเรื่องของปริมาณกระทงที่กลายเป็นขยะตกค้างนั้น มองว่าควรมีแนวทางในการขอความร่วมมือและบริหารจัดการที่ดี โดยลดปริมาณกระทง การทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ และลอยกระทงในพื้นที่ที่จัดให้เพื่อความสะดวกใน การจัดเก็บ"
สำหรับแนวทางที่ทาง TEI แนะนำในการสืบสานวัฒนธรรมไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
การเลือกใช้กระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อยสลายได้ : โดยเลือกใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้จากพื้นที่ เช่น หยวกกล้วย กาบกล้วย ใบตอง ดอกบัว ซึ่งเป็นประเพณีดั่งเดิม โดยกระทงจากวัสดุเหล่านี้สามารถจัดเก็บและนำไปกำจัดได้ง่ายดายหลังเสร็จสิ้นงาน และควรทำกระทงขนาดที่เหมาะสมไม่ใหญ่จนเกินไป หรือหากจัดเก็บไม่ได้บางส่วนก็จะค่อยๆ ย่อยสลายเองตามธรรมชาติได้
เลือกกระทงให้เหมาะสมกับพื้นที่ : คำนึงถึงสถานที่ที่จะนำกระทงไปลอยหากเป็นกระทงขนมปัง ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลาหรือสัตว์น้ำ และเป็นขนมปังที่ไม่มีสีสัน ที่จะเป็นพิษต่อสัตว์น้ำได้ เพราะหากนำไปลอยในแหล่งที่มีน้ำเน่าและไม่มีสัตวน้ำ จะถือว่าเป็นการเพิ่มความสกปรกให้แห่งน้ำได้ และไม่ควรลอยกระทงในทะเล เนื่องจากไม่สามารถจัดเก็บได้ง่าย บางส่วนก็จะวกกลับมาชายฝั่ง
งดการใช้วัสดุที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ : ลวด แม็กซ์ เข็มหมุด ตะปู เพราะอาจหลุดและตกลงสู่แม่น้ำ เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และเป็นกระทงที่ยากต่อการคัดแยกเพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธี ดังนั้นควรใช้วัสดุไม้กลัดที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติ หรือไม่ควรใส่เหรียญ
งดการใช้วัสดุพลาสติกและโฟม : เพราะเป็นวัสดุย่อยสลายยาก พลาสติกบางชิ้นและโฟม ไม่เหมาะในการนำไปรีไซเคิล และใช้เวลาย่อยสลายหลายร้อยปี หากเล็ดลอดออกสู่สิ่งแวดล้อม
กระทงเดียวลอยด้วยกัน : เพื่อลดปริมาณกระทงก็เชิญชวนและรณรรงค์ให้ใช้กระทงน้อยลง โดย หนึ่งครอบครัว หนึ่งกระทง หรือ หนึ่งกลุ่มเพื่อนหนึ่งกระทง
"อย่างไรก็ดีใน อนาคตควรมีการกำหนดพื้นที่ลอยกระทง เช่น จัดพื้นที่ให้ประชาชนลอยกระทงในสถานที่น้ำไหล มีตาข่ายกักเก็บหรือแหล่งน้ำปิดที่เป็นพื้นที่ที่สะดวกต่อการเก็บกระทงเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม รวมถึงรณรงค์และเชิญชวนให้ผู้ขายและประชาชนสร้างสรรค์กระทงจากวัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย และมีการเก็บกระทงเพื่อไปจัดการอย่างถูกวิธี ย่อยสลายได้ตามความเหมาะสมเพื่อลดปริมาณขยะ เช่นนำไป หมักเป็นสารบำรุงดิน เป็นต้น" ดร.วิจารย์กล่าวเสริม
สำหรับ สถิติ ปริมาณขยะการจัดเก็บกระทงในกรุงเทพมหานคร เมื่อปีที่ผ่าน (2565) สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. รายงานจำนวนกระทงที่เก็บได้ มีจำนวน 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่จัดเก็บได้ 403,203 ใบ คิดเป็นร้อยละ 42 โดยประเภทที่จัดเก็บได้ทำจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ หรือร้อยละ 95.7 และทำจากโฟม 24,516 ใบ หรือร้อยละ 4.3 โดยกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน มีสัดส่วนลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 96.5 เป็น 95.7 ส่วนสัดส่วนของโฟมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.5 เป็น 4.3
สำหรับสถิติจำนวนการจัดเก็บขยะกระทง กทม. 4 ปีที่ผ่านมา คือ
- ปี 2564 จัดเก็บได้ 403,235 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.5% จากโฟม 3.5%
- ปี 2563 จัดเก็บได้ 492,537 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.4% จากโฟม 3.6%
- ปี 2562 จัดเก็บได้ 502,024 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.3% จากโฟม 3.7%
- ปี 2561 จัดเก็บได้ 841,327 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 94.7% จากโฟม 5.3%
สำหรับการลอยกระทงในปี 2566 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมทำสถิติใหม่ โดยปริมาณกระทงลดลง 50% และเป็นกระทงทำจากวัสดุธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 100 %
ที่มา: สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)