วิสาหกิจฯ HAND-IN-HAND RUSO "สร้างเศรษฐกิจ" แก้ปัญหาพื้นที่สีแดง

ศุกร์ ๐๑ ธันวาคม ๒๐๒๓ ๑๑:๔๐
วิสาหกิจฯ HAND-IN-HAND RUSO นับเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่ใช้ "ใจ" ในการขับเคลื่อนโดยแท้ เพราะกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเริ่มต้นจากโครงการของภาครัฐ อุตสาหกรรมเพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบส่งผลให้เอกชนที่เข้ามาสนับสนุนถอนตัว
วิสาหกิจฯ HAND-IN-HAND RUSO สร้างเศรษฐกิจ แก้ปัญหาพื้นที่สีแดง

ทว่า ชุมชนไม่ถอดใจ สานต่อกิจการจนประสบความสำเร็จทั้งด้านเศรษฐกิจ และนำความสงบสู่พื้นที่อีกครั้ง

ชาวบ้านที่รือเสาะตกลงใจเดินหน้ากิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปต่อ โดยนำทุน เครื่องจักร และทรัพยากรที่หน่วยงานต่างๆ สนับสนุนไว้ มารวมตัวกันในรูปแบบ "วิสาหกิจชุมชน" จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HAND RUSO จ.นราธิวาส ขึ้นเมื่อปี 2554

กระทั่งขณะนี้ กิจการสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนปีละกว่า 24 ล้านบาท และสามารถสร้างความสงบในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่สีแดง

วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ จึงถือเป็น "แบบอย่างความสำเร็จ" ของชุมชนที่ฝ่าฟันอุปสรรคจนนำมาสู่ความสำเร็จ กระทั่งได้รับ "รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ" ประเภทการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร ที่มอบโดยมูลนิธิสัมมาชีพ เนื่องจากมีการบริหารจัดการกิจการที่ดี มีส่วนสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และปรับตัวต่อความเสี่ยงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

"ต้องขอบคุณมูลนิธิสัมมาชีพที่ให้โอกาสพิจารณาวิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HAND RUSO จ.นราธิวาส ได้รับรางวัลนี้ รู้สึกซาบซึ้งใจ ดีใจเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นขวัญกำลังใจและพลังให้กับบุคลากรและทีมงานในการดำเนินงานเพื่อการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" นูรี เดวาดาแล ประธานวิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HAND RUSO จ.นราธิวาส เผย

นูรีเล่าถึงช่วงแรกเริ่มว่า เดิมวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ตัดเย็บเฉพาะชุดนักเรียน แต่ประสบกับปัญหาทางการตลาด เพราะชุดนักเรียนมีกลุ่มลูกค้าจำกัด และจำหน่ายได้ในช่วงสั้นๆ ก่อนเปิดภาคเรียนเท่านั้น ทำให้บุคลากรไม่มีงานทำ ต้องทยอยลาออก

กระทั่งมีผู้แนะนำให้ลองนำผ้าคุณภาพดีจากต่างประเทศมาตัดเย็บ และเปลี่ยนมาตัดเย็บชุดกีฬา ชุดออกกำลังกาย เสื้อคอกลม เสื้อคอปก เป็นต้น กิจการเย็บผ้าจึงเติบโตต่อเนื่อง

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนฯ มีโรงงานเย็บผ้า 1 โรง สามารถตัดเย็บได้ทั้ง ชุดกีฬาประเภทต่างๆ เสื้อคอปก คอกลม คอวี กางเกงวอร์ม เสื้อแจ๊คเก็ต ชุดพละ ผ้าคลุมผม กระเป๋าผ้า เป็นต้น

และในอนาคต "นูรี" บอกว่า วิสาหกิจชุมชนฯ กำลังเตรียมแผนงานที่จะไปจัดไลน์การผลิตในเรือนจำนราธิวาส เพื่อช่วยสร้างงานให้กับผู้ต้องขังหญิง ในโครงการสร้างงานสร้างสุขให้คนหลังกำแพงเรือนจำนราธิวาส

สำหรับกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ จะอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงานองค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาชนทั่วไป ขณะที่การออกแบบและพิมพ์ลวดลายผ้า ได้นำ "ของดีพื้นถิ่น" มาถ่ายทอด เช่น นกเงือก เรือกอและ ใบไม้สีทอง ว่าว ต้นไม้ ดอกไม้ต่างๆ รวมถึงนำ "ผ้าปาเต๊ะ" หรือผ้าทอในพื้นที่ มาผสมผสานลงในผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความสวยงามโดดเด่น สร้างอัตลักษณ์ในพื้นที่  งานตัดเย็บยังเน้นการรักษาคุณภาพ จำหน่ายในราคาที่จับต้องได้

ไม่เพียงการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เท่านั้น ที่ผ่านมา "นูรี" เล่าว่า ยังประสานเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน  เช่น การมอบเศษผ้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับวิสาหกิจชุมชนวัดราษฎร์สโมสร เพื่อนำไปจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าเช่น หมวก กระเป๋า พรมเช็ดเท้า การนำผ้าทอ ผ้าปาเต๊ะ จากกลุ่มศิลปาชีพหรือโครงการพระราชดำริต่างๆ มาออกแบบและตัดเย็บเป็นสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น   

ประธานวิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HAND RUSO ประเมินว่า สิ่งที่วิสาหกิจชุมชนฯ ดำเนินการมาทั้งหมด มีส่วนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนฯ เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ อีกด้วย 

ปัจจุบัน วิสาหกิจฯ มีการจ้างงานให้กับสมาชิกเกือบ 300 คน โดยทำงานภายในโรงงาน 150 คน และรับงานไปทำงานตามครัวเรือนอีกประมาณ 150 คน ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานไปหางานทำ สามารถแก้ปัญหาทางสังคมได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนฯ ยังเป็น "แหล่งเรียนรู้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ" เนื่องจากในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง มีสถานศึกษาที่จัดหลักสูตรเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชนฯ จึงมีการส่งนักศึกษามาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้าน "เศรษฐกิจชุมชน ดำเนินการด้วยชุมชน" เป็นต้นแบบให้กับกลุ่มอื่นๆ ได้เรียนรู้และนำไปสร้างความเข้มแข็ง

ด้านกิจกรรมเพื่อสังคมก็มีมากมาย เช่น จัดผลิตเสื้อราคาถูกพิเศษเพื่อกิจกรรมโรงพยาบาล  โรงเรียน ตาดีกา มัสยิดหรือองค์กรต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กรการกุศลเหล่านี้

"ในอดีต พื้นที่วิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HAND RUSO เป็นพื้นที่สีแดง มีปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น ลอบยิงผู้ที่ใช้เส้นทาง แต่เมื่อมีการดำเนินงานของวิสาหกิจฯ และนำคนในพื้นที่มาทำงานในฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย งานด้านตัดเย็บ และยังมีกิจการอื่นๆ เช่น ร้านขายอาหาร ตลาดนัดชุมชน เมื่อชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความสงบในพื้นที่ก็เกิดขึ้น" นูรี กล่าว

นี่คือการทำงานอย่างบูรณาการของ วิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HAND RUSO ซึ่งไม่เพียงส่งประโยชน์ต่อสมาชิก แต่ยังขยายทั่วถึงทั้งชุมชน  

ความสุข ความสามัคคี ความร่มเย็นใจ ในพื้นที่ที่เคยไม่สงบ จึงสงบลงได้ด้วยเหตุนี้

 

ที่มา: มูลนิธิสัมมาชีพ

วิสาหกิจฯ HAND-IN-HAND RUSO สร้างเศรษฐกิจ แก้ปัญหาพื้นที่สีแดง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๗ เม.ย. อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud