"ซิตี้แบงก์" มองเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกปี 2567 ทยอยฟื้นตัว ด้านไทยจีดีพีโต 3.6% คาดภาครัฐส่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มช่วงครึ่งปีหลัง

พฤหัส ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗ ๑๑:๑๑
ธนาคารซิตี้แบงก์เผยเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกเติบโตต่อเนื่อง จากการลงทุนในภูมิภาคสูงขึ้นประกอบกับเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว ด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และโลหะ ยังอยู่ในระดับต่ำจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.6% จากปัจจัยการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ตลอดจนการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจากต่างประเทศ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตามต้องติดตามข้อสรุปของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังมีความไม่แน่นอน แต่หากไม่มีมาตรการนี้ ภาครัฐมีแนวโน้มออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.7% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังอยู่ที่ 2.5% จนถึงปี 2568
ซิตี้แบงก์ มองเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกปี 2567 ทยอยฟื้นตัว ด้านไทยจีดีพีโต 3.6% คาดภาครัฐส่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มช่วงครึ่งปีหลัง

นางสาวโจฮันน่า ฉัว หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและตลาดเอเชียแปซิฟิก ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า "ภาพรวมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปีนี้ จะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2567 ที่ระดับ 0.25% และคาดว่าตลอดปีจะลดดอกเบี้ยทั้งหมด 5 ครั้ง ที่ระดับ 1.25% ขณะที่ธนาคารกลางในเอเชียจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่น้อยกว่า ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐอเมริกาและเอเชียน้อยลง ส่งผลให้เงินลงทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันจะเริ่มเห็นความต้องการสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจีน ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคทยอยฟื้นตัว สำหรับ GDP ของประเทศจีนในปี 2567 จะเติบโตที่ 4.6% ขณะที่ GDP ประเทศอินเดียเติบโตที่ 7%"

นายแอนโทนี่ หยวน หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ธุรกิจพลังงาน ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า "ภาพรวมราคาสินค้า โภคภัณฑ์ในระยะสั้นมีแนวโน้มลดลง โดยราคาน้ำมันดิบปี 2567 อยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากการที่เศรษฐกิจโลก ยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงอุปทานน้ำมันของประเทศผู้ผลิตนอก OPEC สูง ตลอดจนความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการน้ำมันดิบลดลง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันอาจปรับเพิ่มขึ้นหากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ด้านราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ยังทรงตัวในระดับต่ำ แต่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิดไปจนถึงปี 2569 หากทวีปยุโรปและเอเชียไม่เผชิญปัญหาสภาพอากาศหนาวเย็นกว่าปกติ ส่วนราคาโลหะภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะทองแดง ยังคงอยู่ในระดับเดิมจากการสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แต่ในช่วง 2 ปีข้างหน้ามีโอกาสปรับตัวดีขึ้น จากการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยี Decarbonization ซึ่งใช้ทองแดงเป็นส่วนประกอบหลัก"

ด้าน นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเติบโตอยู่ที่ 3.6% จากการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ภาคการส่งออกที่ฟื้นตัว 3.3% จากปีก่อนหน้าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจะเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ด้านภาคการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวราว 35.2 ล้านคน และเพิ่มเป็น 41 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว สำหรับเทรนด์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่โดดเด่น ได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

"การใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ งบประมาณปี 2567 อย่างไร ก็ตามต้องติดตามข้อสรุปของการอนุมัติร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากมาตรการดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ซิตี้แบงก์คาดการณ์ว่ารัฐบาลอาจมีมาตรการอื่น ๆ ซึ่งอาจใช้งบที่ลดลงและมุ่งเน้นไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในระดับ 1-3% ของกรอบเป้าหมาย ที่ 1.7% ในปี 2567 โดยมีความเสี่ยงขาขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก ผลของปรากฏการณ์เอลนีโญต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และการทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาล ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะรักษาดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% จนถึงปี 2568 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ" นางสาวนลิน กล่าวสรุป

ขณะที่ นายสิทธิโชค เตชะศิรินุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ซิตี้คอร์ป ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึง ภาพรวมการลงทุนในประเทศไทยว่า "ตลาดหุ้นไทยปี 2567 ได้รับความสนใจและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนมากขึ้น จากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นฟู 80-90% เทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่าดัชนีหุ้นไทยในปีนี้ (SET Index) อยู่ที่ 1,527 จุด สำหรับธีมการลงทุนที่โดดเด่น ได้แก่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่ให้ผลตอบแทนสูง กลุ่มโรงพยาบาลและธุรกิจด้านการแพทย์ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้การลงทุนในกลุ่มธุรกิจการบริโภคอุปโภค และโรงกลั่น มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน"

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย หรือ www.citibank.co.th

ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์

ซิตี้แบงก์ มองเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกปี 2567 ทยอยฟื้นตัว ด้านไทยจีดีพีโต 3.6% คาดภาครัฐส่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มช่วงครึ่งปีหลัง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๗ เม.ย. อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud