องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS), ธนาคารจิตอาสา ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และหมู่บ้านพลัมประเทศไทย, เครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย (TSIC), คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เปิดพื้นที่สร้างสุขภาวะทางจิต จัดกิจกรรม Happy TALK Happy FORUM ภายใต้โครงการ Happyland แดน (เคย) สุขใจ โดยมี รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ร่วมกับตัวแทนภาคีเครือข่ายคุณเตือนใจ คงสมบัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ คอนแวนชันฮอลล์ ไทยพีบีเอส
จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต ในปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต 10 ล้านคน เป็นผู้ป่วยจิตเวชมากถึง 2.3 ล้านคน จากข้อมูล Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต พบสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยทุกช่วงอายุ ระหว่างปี 63 - 67 มีความเครียดสูง 8.04% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 9.47% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5.39% กลุ่มที่น่าห่วงเป็นเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี มีความเครียดสูง 24.83% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 29.51% และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 20.35% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าวัยทั่วไป รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุกว่า 800,000 คน ที่มีภาวะความจำเสื่อมในจำนวนนี้ 90% มีปัญหาสุขภาพจิตร่วมด้วย
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า "ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับการทำงานและชีวิต ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาวะทางจิต เห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงมีความตั้งใจร่วมทำโครงการ Happyland แดน (เคย) สุขใจ เพื่อยกระดับสุขภาวะทางจิตของคนไทยให้ดีขึ้น เพระเชื่อว่า คนไทยควรจะได้รับการดูแลและมีสุขภาวะทางจิตที่ดี โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิต จัดกิจกรรมต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. - 10 ต.ค. จากวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ถึงวันสุขภาพจิตสากล (World Mental Health Day)"
ภายในงานยังมี "กิจกรรม H. Talk (Happy Talk)" TED Talk เพื่อสร้างภูมิทางใจให้พ้นทุกข์ เกิดสุขง่าย ร่วมหาทางออกให้กับปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทยโดยภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพจิต อาทิ นางวาสนา ทองจันทร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต และผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต, นางวาสนา ทองจันทร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ, รศ. ดร.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ, ดร.สหรัฐ เจตมโนรมย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิหมู่บ้านพลัมประเทศไทย, ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา, ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS), อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้ง Sati App, พนิตพรรณ เอี่ยมนนท์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)
อีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลต์ของงาน ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัด Policy Forum ครั้งที่ 18 : Happy Forum ทวงคืนสมาธิ แก้ปมคุกคามสุขภาวะทางจิต เครียด ขาดสมาธิ สติหลุด หยุดคิดไม่ได้ โรคระบาดยุคใหม่ที่ต้องแก้ในระดับสังคม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อร่วมหาทางออกให้กับ "ปัญหาสุขภาพจิต" ในสังคมไทย นำโดย นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต, ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ปนันดา จันทร์สุกรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone
ภายใต้โครงการฯ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น Happy Room เปิดห้องฮีลใจ วัยรุ่น คนทำงาน ครอบครัว และอีกมากมายหลากหลายกิจกรรม เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. - 10 ต.ค. นี้ ผ่านทุกช่องทางของไทยพีบีเอส นอกจากนี้ ไทยพีบีเอสยังเปิดพื้นที่ให้คำปรึกษาและจัดกิจกรรม "ฮีลใจ คนไทยพีบีเอส" ภายใต้แผนส่งเสริมสุขภาวะทางใจ ครอบคลุมการประเมินตรวจเช็คสุขภาวะทางจิต ทบทวนตัวเอง ตระหนักรู้สภาวะจิตใจ ปลดปล่อยความเศร้า ความเครียด เปิดพื้นที่พูดคุยแบบสุนทรียสนทนาวงเล็ก ๆ "ทุกศุกร์ ฟังทุกข์สุข" และยังมีโครงการ ดี ๆ ที่จะขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะทางจิตชวนให้ติดตามกันต่อไป
สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
Website : www.thaipbs.or.th
Application : Thai PBS? Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin
ที่มา: ส.ส.ท.