วันนี้ (17 กันยายน 2567) แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย มอบหมายให้ นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย ทันตแพทย์ดำรง ธำรงเลาหะพันธุ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข นายแพทย์พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี นายแพทย์กฤษฎา ศิริชัยสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี และ ระดมทีม SEhRT จากศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรราชธานี และศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจการจัดการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน พร้อมทั้งสื่อสารให้คำแนะนำการดูแลสุขอนามัยแก่ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพในช่วงน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดหนองคาย
นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำโขง และปริมาณฝนที่ตกหนักเกินค่าเฉลี่ยส่งผลกระทบในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดหนองคาย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ อำเภอเมือง และอำเภอรัตนวาปี ซึ่งได้มีการเปิดศูนย์พักพิง สำหรับรองรับประชาชนที่ประสบภัยจำนวน 12 แห่ง และหน่วยงานสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ 12 แห่ง กรมอนามัย จึงได้ระดมบุคลากรทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รองรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข หรือทีม SEhRT (Special Environmental health Response Team) ได้แก่ ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา และศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ร่วมกับทีม SEhRT ส่วนกลาง ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจการจัดการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน
"ทั้งนี้ กรมอนามัยได้สนับสนุน "ชุดเราสะอาด" (V-Clean) จำนวน 1,200 ชุด ชุดทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ ชุดทดสอบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำสำหรับใช้ในศูนย์พักพิง และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นให้แก่หน่วยงานในพื้นที่เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยต่อไป นอกจากนี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสุขอนามัยในภาวะน้ำท่วม การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมทั้งในครัวเรือนและในศูนย์พักพิง พร้อมทั้งสื่อสารให้คำแนะนำการดูแลสุขอนามัยแก่ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพในช่วงน้ำท่วม โดยแนะนำประชาชนดูแลสุขอนามัยที่ดี ด้วย 5 วิธีปฏิบัติตนดูแลสุขอนามัยในช่วงน้ำท่วม ดังนี้ 1) กินอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด โดยหมั่นสังเกตอาหารที่มาบริจาคและน้ำดื่มทุกครั้ง2) กรณีห้องส้วมใช้งานไม่ได้ให้ใช้ส้วมฉุกเฉิน เช่น ส้วมกระดาษแทนได้ โดยขับถ่ายใส่ในถุงดำ โรยปูนขาว มัดปากถุงให้แน่น รวบรวมเก็บไว้แล้วรอนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และไม่ทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ เสี่ยงน้ำเน่าเสียและเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค 3) หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ เสี่ยงเชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกาย หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูทกันน้ำ และหลังเดินลุยน้ำ ต้องล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง 4) ป้องกันสัตว์และแมลงนำโรคเข้าในบ้าน เช่น นอนกางมุ้งป้องกันยุง จัดบ้านเป็นระเบียบป้องกันสัตว์มีพิษเข้ามาอาศัยในบ้าน และ 5) มีพฤติกรรมสุขอนามัยที่ดี ป้องกันโรค ด้วยการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์ หากไม่มีน้ำสะอาด และสวมหน้ากากอนามัยป้องกันโรคในช่วงน้ำท่วม" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: กรมอนามัย