กทม. แจงแนวทางจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย เพื่อความเป็นระเบียบของเมือง-ไม่กระทบการสัญจรของประชาชน

พฤหัส ๐๖ มีนาคม ๒๕๖๘ ๑๗:๔๑
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยของ กทม. ว่า กทม. ให้ความสำคัญในการจัดระเบียบทางเท้าและการค้าหาบเร่แผงลอย เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรได้สะดวกและปลอดภัย โดยคำนึงถึงแนวคำพิพากษาของศาลปกครองที่ให้ความสำคัญกับการใช้พื้นที่ทางเท้าเพื่อประโยชน์สาธารณะมากกว่าการค้าขาย ทั้งนี้ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 20 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดปรุงอาหาร ขายหรือจำหน่าย หรือใช้รถยนต์ หรือล้อเลื่อนเป็นที่ปรุงอาหาร หรือขายหรือจำหน่ายสินค้าซึ่งบรรทุกบนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนถนน หรือในสถานสาธารณะ เว้นแต่เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศผ่อนผันให้กระทำได้ในระหว่างวันเวลาที่กำหนดด้วยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจร และในการผ่อนผันต้องเป็นการชั่วคราวและจำเป็นเท่านั้น
กทม. แจงแนวทางจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย เพื่อความเป็นระเบียบของเมือง-ไม่กระทบการสัญจรของประชาชน

ทั้งนี้ กทม. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้า หรือสถานสาธารณะ ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 เพื่อให้สำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางพิจารณาพื้นที่ทำการค้าเป็นจุดผ่อนผัน โดยจะต้องไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชน ความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมทั้งกำหนดให้ทบทวนพื้นที่ทำการค้าทุก 1-2 ปี โดยยึดหลักของการอนุญาตชั่วคราว เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ หากพบว่าไม่เหมาะสมแล้ว กทม. จำเป็นต้องคืนทางเท้าให้ประชาชนใช้สัญจรต่อไป รวมทั้งนำระบบภาษีเงินได้ มาใช้คัดกรองผู้มีสิทธิทำการค้า โดยกำหนดให้ผู้ค้าบนพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตต้องยื่นภาษีเงินได้ประจำปี และต้องมีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาท/ปี หลังหักค่าใช้จ่าย โดยปีแรกจะได้รับการยกเว้นการยื่นภาษี เนื่องจากผู้ค้าหลายราย ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งการนำระบบการยื่นภาษีมาเป็นหลักฐานการแสดงว่าเป็นผู้มีรายได้น้อยจะช่วยลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ค้าทุกราย

ขณะเดียวกัน กทม. กำหนดให้มีการตรวจประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ ผู้ค้า การทำการค้าของพื้นที่ทำการค้าทั้งในและนอกจุดผ่อนผันซึ่งมีมากกว่า 400 จุด โดยมีคณะกรรมการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับสำนักงานเขต ระดับสำนักเทศกิจ และผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร จะประเมินพื้นที่ระหว่างเดือน ม.ค. - มี.ค. 68 จำนวน 3 ครั้ง หากพื้นที่ใดมีความเหมาะสมและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะผลักดันให้เป็นพื้นที่ผ่อนผันตามกฎหมายต่อไป หากพื้นที่ไม่เหมาะสม หรือผู้ค้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ กทม. จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นหลักเกณฑ์การขออนุญาตผ่อนผันพื้นที่ขายสินค้าต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชน อย่างไรก็ตาม กฎหมาย กฎระเบียบ หรือแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่ออกมาใช้บังคับนั้น สามารถประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมได้ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการจัดระเบียบการทำการค้าและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง

ที่มา: กรุงเทพมหานคร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๐ เม.ย. COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๓๐ เม.ย. GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๓๐ เม.ย. PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๓๐ เม.ย. LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๓๐ เม.ย. ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๓๐ เม.ย. ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๓๐ เม.ย. LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๓๐ เม.ย. SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๓๐ เม.ย. STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๓๐ เม.ย. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน