กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฤดูร้อน เตรียมพร้อมหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน 24 ชม. เพิ่มความปลอดภัยให้คนกรุงฯ

พฤหัส ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๘ ๑๔:๔๕
นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังและรับมือสถานการณ์พายุฤดูร้อนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนน. ได้เตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ในด้านต่าง ๆ โดยเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังสภาพอากาศ การพยากรณ์อากาศแบบจำลองเส้นทางพายุจากกรมอุตุนิยมวิทยา การตรวจสอบกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) เข้าพื้นที่ขณะที่มีฝนเริ่มตก โดยเร่งระบายน้ำในจุดที่มีน้ำท่วมขัง พื้นที่จุดเสี่ยง และจุดเฝ้าระวัง รวมถึงบริเวณอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่วนด้านระบบระบายน้ำ ได้เตรียมพร้อมอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 200 แห่ง ประตูระบายน้ำ 242 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 349 แห่ง โดยลดระดับน้ำในคูคลองต่าง ๆ ปรับแผนดำเนินการจากแผนไหลเวียนน้ำเป็นแผนการลดระดับน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนที่อาจเกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน รวมทั้งเร่งขุดลอกท่อระบายน้ำคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินได้เตรียมพร้อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองประจำสถานีสูบน้ำ กรณีไฟฟ้าขัดข้อง เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิค บอลลูนไลท์ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการติดตั้งและตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และจัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอ สำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ติดตั้งใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยง และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม

ขณะเดียวกันได้ประสานหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมทางหลวง การไฟฟ้านครหลวง รวมถึงผู้รับจ้างของโครงการต่าง ๆ เพื่อเตรียมแนวทางระบายน้ำในจุดก่อสร้าง ปรับปรุงร่องน้ำชั่วคราว และเร่งรัดการแก้ไขอุปสรรคที่อาจกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. โดยกำชับให้ผู้รับจ้างดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ฝนแบบเรียลไทม์ผ่านช่องทางที่ http://dds.bangkok.go.th หรือเพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร หรือแจ้งปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร.0 2248 5115 Traffy Fondue และสายด่วน 1555 ตลอด 24 ชั่วโมง สนน. จะเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานความคืบหน้าและผลกระทบต่อประชาชนในช่วงเกิดพายุฤดูร้อนผ่านระบบติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำท่วมของ กทม. อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กล่าวว่า สนย. ได้ประสานข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำและสถานีสูบน้ำของ กทม.อย่างใกล้ชิด และประสานหน่วยงานสาธารณูปโภคในพื้นที่อื่น ๆ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น รวมทั้งเตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องมือ เครื่องจักรกล ยานพาหนะและวัสดุสำหรับการซ่อมบำรุงเร่งด่วนในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนนทั้ง 6 ศูนย์ เพื่อรองรับสถานการณ์จากภาวะเสี่ยงของสภาพอากาศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการสัญจรในถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (BEST) เข้าช่วยเหลือประชาชนโดยทันท่วงที ทั้งจากปัญหาการเร่งระบายน้ำในจุดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย การรื้อถอน เคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวาง หรือซากปรักหักพังจากเหตุสาธารณภัยข้างต้น ขนย้ายทรัพย์สินฉุกฉินเร่งด่วน เข้าซ่อมบำรุงเร่งด่วน ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก บรรเทาเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัญหาเหตุฉุกเฉินการจราจรบนถนนสายหลัก หรือเหตุเดือดร้อนอื่น ๆ ผ่านทุกช่องทางสื่อสารของ กทม. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้หน่วยงานเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทันที

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า สสล. ได้ประสานแจ้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักและพายุลมแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะในเขตเมือง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากพายุลมแรงตามมาตรการที่ดำเนินการ ประสานหน่วยงานรับผิดชอบต้นไม้บนถนนสายหลัก สายรอง ทางเท้า สวนหย่อม สวน 15 นาที และสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ออกตรวจตราความสมบูรณ์ของต้นไม้ หากพบความเสี่ยงต่อการหักโค่น หรือได้รับผลกระทบจากลมพายุ ให้ดำเนินการตัดแต่งกิ่งแห้งและกิ่งผุ ตรวจสอบลำต้น หาร่องรอยการเข้าทำลายของแมลง ตัดแต่งต้นไม้ตามหลักรุกขกรรม เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ลดการต้านลม และป้องกันการโค่นล้ม รวมถึงสำรวจและประเมินความเสี่ยงเพิ่มเติมกรณีมีการคาดการณ์ว่าพายุอาจรุนแรงในช่วงเวลาถัดไป เพื่อดำเนินการแก้ไขเชิงป้องกัน พร้อมจัดเตรียมหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง เพื่อแก้ไขเหตุฉุกเฉิน เช่น ต้นไม้หักโค่นกีดขวางถนน หรือทับบ้านเรือนประชาชน ทั้งนี้ หากประชาชนพบต้นไม้อยู่ในสภาพเสี่ยงโค่นล้ม หรือระสายไฟฟ้า สามารถแจ้งข้อมูลและพิกัดต้นไม้ได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ หรือแอปพลิเคชัน Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ และเก็บกวาดกิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่หักโค่นกีดขวางในที่สาธารณะ และหากประชาชนประสงค์ขอรับบริการตัดแต่งต้นไม้ในบ้านสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพื้นที่ โดยมีอัตราค่าบริการตามระเบียบที่ กทม. กำหนด

ที่มา: กรุงเทพมหานคร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน