เดลต้า ประเทศไทย ได้กำหนดนโยบายและขั้นตอนในการป้องกันและจัดการกับการทุจริต รวมถึงจรรยาบรรณในการทำงาน นโยบายงดรับของขวัญ และแถลงการณ์การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของพนักงาน โดยพนักงานทุกคนต้องเข้ารับการอบรมประจำปีและผ่านการตรวจสอบจรรยาบรรณของบริษัทและนโยบายต่อต้านการทุจริต นอกจากนี้ เดลต้ายังมีช่องทางการแจ้งเบาะแสและเปิดเผยความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริตแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ
ในขั้นตอนการรับรอง ทีมเลขานุการบริษัทของเดลต้าได้กรอกแบบฟอร์มประเมินตนเองเพื่อยื่นต่อ CAC ซึ่ง CAC เป็นการดำเนินการร่วมกันเพียงหนึ่งเดียวที่ริเริ่มโดยภาคเอกชนไทยเพื่อจัดการกับการทุจริตและเป็นหนึ่งในโครงการต่อต้านการทุจริตชั้นนำของภูมิภาค ปัจจุบันมีบริษัทที่ลงนามใน CAC ราว 1,000 บริษัท และเดลต้าเป็นหนึ่งในเกือบ 400 บริษัทที่ได้รับการรับรองด้านความซื่อตรงทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมและแนวทางปฏิบัติขององค์กรที่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด
แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 เป็นแพลตฟอร์มสำหรับองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศไทยเพื่อจัดการกับการทุจริตบนพื้นฐานความสมัครใจผ่านการดำเนินการร่วมกัน โดยทางองค์กรได้พัฒนาโปรแกรมการรับรองที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งช่วยให้สมาชิกวางมาตรฐานการต่อต้านการทุจริตที่เข้มงวด และรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุนในการต่อสู้กับการรับสินบนในนามของภาคธุรกิจ
เดลต้า ในฐานะพลเมืององค์กรระดับโลก ได้กำหนดให้มีบรรษัทภิบาลและนโยบายต่อต้านการทุจริต พร้อมการฝึกอบรมและแนวทางการดำเนินงานสำหรับพนักงานและซัพพลายเออร์ทุกรายให้ปฏิบัติตาม ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัท